ข่าวมีค่า รวบรวมข้อมูลแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ในช่วงเดือนเมษายน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และภาครัฐถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าล่าช้าในการหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน ขณะที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างพยายามเร่งเครื่องการฉีดวัคซีน เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สถานการณ์วัคซีนของไทย : ซิโนแวค
องค์การเภสัชกรรมได้จัดซื้อวัคซีน “ซิโนแวค (Sinovac)” จาก บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ซายน์ จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน (Sinovac Life Sciences Co.,Ltd.) รวม 2,000,000 โดส โดยมีการนำเข้ามา 3 ล็อต คือ
- วัคซีนล็อตที่ 1 จำนวน 200,000 โดส นำเข้ามาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564
- วัคซีนล็อตที่ 2 จำนวน 800,000 โดส นำเข้ามาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564
- วัคซีนล็อตที่ 3 จำนวน 1,000,000 โดส นำเข้ามาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564
- วัคซีนซิโนแวคที่สังซื้อเพิ่มเติมอีก 500,000 โดส จะนำเข้ามาในช่วงปลายเดือนเมษายน 2564
โดยวัคซีนทั้ง 3 ล็อตที่นำเข้ามาแล้ว อยู่ในระว่างการกระจายวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนตามแผนที่วางไว้
สถานการณ์วัคซีนของไทย : แอสตร้าเซนเนก้า
ไทยได้สั่งซื้อวัคซีน “แอสต้าเซนเนก้า (Astrazeneca)” จากบริษัท AstraZeneca (Thailand) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 26 ล้านโดส และสั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมทั้งมีวัคซีนที่นำเข้ามาถึงประเทศไทย จำนวน 117,000 โดส เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564
- วัคซีนล็อตที่ 1 จำนวน 26 ล้านโดส จะนำเข้ามาในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2564
- วัคซีนล็อตที่ 2 จำนวน 35 ล้านโดส จะนำเข้ามาในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564
นอกจากนี้บริษัท AstraZeneca จำกัด ยังตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้แก่ผู้ผลิตในประเทศไทย คือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
เป้าหมายการฉีดวัคซีนของไทย
รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะทำการฉีดวัคซีนทั้งหมด 63 ล้านโดส (ซิโนแวค 2 ล้านโดส + แอสตราเซนเนก้า 61 ล้านโดส) ให้กับประชาชนในประเทศให้ครบภายในปี 2564
แผนการจัดการวัคซีน เดือนเมษายน 2564
กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนการกระจายวัคซีนในประเทศ โดยแบ่งเป็นการกระจายวัคซีนซิโนแวค ล็อตที่ 2 จำนวน 800,000 โดส ที่จะแจกจ่ายและฉีดให้ประชาชนให้ครบภายในเดือนเมษายน 2564 ต่อมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการเร่งกระจายวัคซีนซิโนแวค ล็อตที่ 3 จำนวน 1,000,000 โดสที่ได้รับมาล่าสุด เพื่อนำมาฉีดเพิ่มเติมให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังเตรียมเปิดทางให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เพื่อนำมาให้บริการประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย
แผนบริหารจัดการ : วัคซีนซิโนแวค 8 แสนโดส
- สำหรับพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดและการป้องกันโรคระบาด 6 จังหวัด 300,000 โดส
- สำหรับพื้นที่ท่องเที่ยว 8 จังหวัด 240,000 โดส
- สำหรับพื้นที่ชายแดน 8 จังหวัด 50,000 โดส
- สำหรับบุคลากรสาธารณสุข, อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่กลุ่มอื่นๆ ที่จำเป็น ในจังหวัดอื่นนอกเหนือจาก 22 จังหวัดข้างต้น 210,000 โดส
แผนบริหารจัดการ : วัคซีนซิโนแวค 1 ล้านโดส
- กระจายให้เป้าหมายใน 77 จังหวัด (8 จังหวัดขนาดใหญ่พิเศษ, 13 จังหวัดขนาดใหญ่ และ 56 จังหวัดขนาดเล็ก)
- สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 599,800 โดส
- สำหรับการควบคุมโรคระบาดในพื้นที่สีแดง 100,000 โดส
- สำหรับประชาชนที่มีโรคประจำตัว 147,200 โดส
- สำหรับตำรวจและทหารด่านหน้าตามแนวชายแดน 54,320 โดส
- สำรองไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน 98,680 โดส
- ส่วนที่จัดสรรให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนภายใน 1 เดือน
แผนบริหารจัดการ : เอกชนนำเข้าวัคซีน
- ภาครัฐมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาการจัดหา “วัคซีนทางเลือก” จำนวน 10 ล้านโดส เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนนอกเหนือจากวัคซีนของซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า
- โรงพยาบาลเอกชนยืนยันว่ามีความพร้อมในการนำเข้าวัคซีน แต่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนและให้บริการประชาชนได้
- เอกชนเห็นว่าการสั่งซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง ดีกว่าการให้ภาครัฐเป็นผู้นำเข้าแล้วแบ่งขายให้เอกชน
- นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ภาครัฐไม่ขัดข้อง และเห็นด้วยที่ภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีน
- การนำเข้าวัคซีนของเอกชน ราคาจำหน่ายจะสูงกว่าวัคซีนที่ภาครัฐนำเข้า
- วัคซีนที่เอกชนสนใจจะนำเข้า ได้แก่วัคซีนของ ไฟเซอร์ (Pfizer), โมเดอร์นา (Moderna), สปุตนิก วี (Sputnik V), ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) และ โนวาแว็กซ์ (Novavax)
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ซึ่ง ข่าวมีค่า เห็นว่าเป็นความพยายามที่จะลดความรุนแรงของสถานการณ์ รวมทั้งลดคำวิจารณ์เรื่องความล่าช้าในการฉีดวัคซีน ทั้งนี้สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปก็คือ เมื่อสิ้นสุดเดือนเมษายน การฉีดวัคซีนจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่ และเมื่อถึงเดือนมิถุนายนที่วัคซีนล็อตใหญ่จะเข้ามา จำนวนผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนจะเพิ่มมากแค่ไหน และถึงตอนนั้นภาคเอกชนจะสามารถนำเข้าวัคซีนได้แล้วหรือยัง
ที่มา :
- Facebook : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข : https://web.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1641665306019682&id=470988516420706
- เว็บไซต์ รัฐบาลไทย : www.thaigov.go.th/news/contents/details/39952
- ประชาชาติธุรกิจ : www.prachachat.net/marketing/news-642210
- โพสต์ทูเดย์ : www.posttoday.com/social/general/647824
- ฐานเศรษฐกิจ : www.thansettakij.com/content/covid_19/475865
- กรุงเทพธุรกิจ : www.bangkokbiznews.com/news/detail/931691