มีค่านิวส์ นำรายละเอียดของการ “ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3)” มานำเสนอ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้โอนอำนาจตามกฎมายของพระราชบัญญัติจำนวน 31 ฉบับ ให้มาอยู่ในอำนาจหน้าที่ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่มา
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ “ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3)” ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย หรือที่มีอยู่ตามกฎหมาย โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว
กฎหมายที่โอนมาเป็นอำนาจของนายกรับมนตรี
กฎหมายที่จะโอนอำนาจหน้าที่จากกระทรวงต่างๆ มาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจำนวน 31 ฉบับ ได้แก่
- พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558
- พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
- พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561
- พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456
- พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497
- พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560
- พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551
- พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไชเบอร์ พ.ศ. 2562
- พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535
- พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522
- พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542
- พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ.2495
- พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530
- พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551
- พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522
- พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551
- พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2558
- พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550
- พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533
- พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522
- พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497
- พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
- พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544
- พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542
- พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509
- พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541
- พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559
- พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
- พระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509 และ
- พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522
ทำไมต้องโอนอำนาจ?
ประกาศดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเป็นการโอนอำนาจเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือฟื้นฟูช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเดิมอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรี ให้ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีทั้ง 31 ฉบับ
ยกเลิกประกาศฉบับก่อนหน้า
การออกประกาศดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ที่เสนอให้ยกเลิกประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2563 และให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศฉบับใหม่นี้ขึ้นมาทดแทน
“โอนอำนาจให้นายก” ไม่ใช่ครั้งแรก
ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่รัฐบาลตัดสินใจโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายมาอยู่กับนายกรัฐมนตรี โดยการออกประกาศทั้งสองครั้งก่อนหน้า มีรายละเอียดดังนี้
- ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี
- วันที่ผลบังคับใช้ : 26 มีนาคม 2563
- ที่มา : เป็นการใช้อำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563
- สาระสำคัญ : โอนอำนาจตามพระราชบัญญัติ จำนวน 40 ฉบับ มาอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี
2. ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2)
- วันที่ผลบังคับใช้ : 1 มิถุนายน 2563
- ที่มา : เป็นการแก้ไขประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ที่ออกไปก่อนหน้านั้น
- สาระสำคัญ : เปลี่ยนจากเดิมที่โอนอำนาจพระราชบัญญัติ จำนวน 40 ฉบับ มาอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี ให้เหลือเพียงอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพียงฉบับเดียว
การโอนอำนาจตามระราชบัญญัติถึง 31 ฉบับให้มาอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ ข่าวมีค่า มองว่าในด้านหนึ่งเป็นการดึงอำนาจการใช้กฎหมายต่างๆ มาอยู่ในมือนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การสั่งการละการดำเนินการในหลายเรื่องรดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง การ “รวบอำนาจ” มาไว้ที่นายกรัฐมนตรี ก็เป็นสิ่งที่ควรต้องชี้แจงอย่างชัดเจน เพื่อให้ประชาขนได้เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องใช้วิธีการดังกล่าว
ที่มา :
- มติชน : www.matichon.co.th/politics/news_2694058
- ผู้จัดการ : https://mgronline.com/politics/detail/9640000040133
- กรุงเทพธุรกิจ : www.bangkokbiznews.com/news/detail/872720
- เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ : www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER9/DRAWER072/GENERAL/DATA0002/00002768.PDF