จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต รายงานสถิติผู้สูงวัยในประเทศไทยในปัจจุบัน มีอาการป่วย “โรคสมองเสื่อม” มากถึงกว่า 8 แสนราย ส่วนใหญ่อายุ 80 ปีขึ้นไป ลูกหลานจึงต้องช่วยกันดูแลเป็นพิเศษด้วยความใจเย็น มีค่า นิวส์ จึงพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “โรคสมองเสื่อม” รวมถึงวิธีสังเกตผู้สูงอายุในบ้านของเราเองว่าเข้าข่ายป่วยโรคนี้หรือไม่
“โรคสมองเสื่อม” คืออะไร?
“โรคสมองเสื่อม” หรือ ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ คือ โรคที่ผู้ป่วยมีความเสื่อมถอยของการทำงานของสมองในภาพรวม ซึ่งเกิดจากการสูญเสียเซลล์สมองหลายส่วน ผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมจะมีปัญหาในการทำงานของสมองขั้นสูง 6 ด้าน คือ
– ด้านสมาธิ
– ด้านการคิด ตัดสินใจ
– ด้านความจำ
– ด้านการใช้ภาษา
– ด้านมิติสัมพันธ์
– ด้านการเข้าสังคม
อาการอย่างไร เข้าข่ายป่วยเป็น “โรคสมองเสื่อม”
แพทย์หญิงรุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ แพทย์ชำนาญพิเศษด้านประสาทวิทยา ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลนครธน เปิดเผยวิธีสังเกตอาการผู้สูงอายุ ดังนี้
1.ผู้สูงอายุมีอาการหลงลืม สับสนเรื่องเวลา หรือ สถานที่ เช่น ตอนนี้อยู่ที่ไหน มาที่นี่ได้อย่างไร
2.ไม่สามารถรับรู้ หรือ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ ใช้ภาษาผิดปกติ บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า เฉื่อยชา โมโหฉุนเฉียวง่าย
3.สูญเสียความจำระยะสั้น ย้อนกลับไปถามคำถามเดิมซ้ำๆ ทั้งที่เพิ่งพูดคุยกันภายใน 5-10 นาทีที่ผ่านมา
4.เกิดหลงทางขึ้นมา แม้เป็นเส้นทางที่คุ้นเคยมาทั้งชีวิต
5.มีอาการทางจิตประสาท เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอนว่ามีคนคิดจะมาทำร้าย
หากผู้สูงอายุ มีอาการดังกล่าว แม้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ลูกหลานควรดูแล และพาผู้สูงอายุมาพบแพทย์ทันที
วิธีการรักษา ป่วยเป็น “โรคสมองเสื่อม”
– แพทย์ จะทำการซักประวัติ เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรม
– ทดสอบสมอง เพื่อวัดสมรรถภาพการทำงาน
– ประเมินความบกพร่องในการรับรู้ ร่วมกับการตรวจร่างกาย และเลือกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด การตรวจภาพสมองด้วยเครื่อง Computed Tomography (CT) หรือ Magnetic Resonance Imaging (MRI)
– ให้ยาที่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น และชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลง ร่วมกับการให้ยารักษาอารมณ์ และพฤติกรรมที่ผิดปกติ
– ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง พิจารณารักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน เพิ่มความจำและความสามารถของสมอง
แล้วจะมีวิธีป้องกันไม่ให้ป่วย “โรคสมองเสื่อม” ได้อย่างไร
กระตุ้นสมองให้ทำงานทั้ง 6 ด้าน ด้วยการทำกิจกรรม ฝึกสมองบ่อย ๆ เช่น ทำกิจกรรม หรืองานอดิเรกที่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ดูแลสุขภาพจิตให้ดี ร่วมกิจกรรมทางสังคม ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำงานอาสาสมัคร เข้าร่วมชมรมต่าง ๆ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เดินในที่อากาศปลอดโปร่ง กิจกรรมเหล่านี้จะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุห่างไกลจากโรคสมองเสื่อมได้
ต้องบอกเลยว่า การมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นงานหนัก ที่เหนื่อยทั้งกายและใจ โดยศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลนครธน พร้อมให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม พร้อมให้ความรู้แก่ลูกหลานที่ต้องดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ด้วยทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ ที่มีความชำนาญการในการรักษาเฉพาะทาง ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วย ที่มีปัญหาเกี่ยวสมองระบบประสาทโดยเฉพาะ