หากเอ่ยชื่อโรค “Binge Eating Disorder” หรือ โรคกินไม่หยุด หลายคนคงสงสัยและอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนว่ามีโรคแบบนี้ด้วยหรือ แล้วจริงๆ มันคือโรคอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร อาการเป็นอย่างไร อันตรายหรือไม่ มีค่า นิวส์ ขอพาทุกคนมาหาคำตอบ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศรัณยู วินัยพานิช หรือ ที่รู้จักกันในวงการบันเทิง “ไอซ์ ศรัณยู” ออกมาเปิดเผยผ่านช่องยูทูบ ICE SARUNYU OFFICIAL บอกว่า ตัวเองป่วยเป็นโรคกินไม่หยุด หรือ “Binge Eating Disorder” (บิ้นจ์-อีทติ้ง) มานานหลายปี
พร้อมเปิดใจเล่าถึงอาการ เริ่มจากไม่สามารถควบคุมการกินของตัวเองได้ , กินแม้กระทั่งเวลาไม่หิว ต่อให้เป็นอาหารที่ไม่อยากกิน วางอยู่ใกล้มือ ก็พร้อมที่จะหยิบเอาเข้าปาก แถมยังกินได้ตลอดเวลา ไม่มีคำว่าอิ่ม กินจนของหมด ขณะกินจะมีความสุขมาก แต่พอผ่านไป 5 – 10 นาที จะรู้สึกผิดอย่างมาก จนเกิดความเศร้า
จากนั้นก็เริ่มปฎิเสธการกินร่วมกับคนในสังคม ชอบแยกตัวกินคนเดียว ซ่อนอาหารไว้ นำออกมากินตอนที่ไม่มีคนอยู่ ต่อมาเกิดโรคไขมันในเส้นเลือดสูง และไขมันพอกตับ เลยตัดสินใจไปพบแพทย์ จึงทราบว่าเป็นโรค “Binge Eating Disorder” (บิ้นจ์-อีทติ้ง) และเข้าสู่การรักษา
“Binge Eating Disorder” คือโรคอะไร?
“Binge Eating Disorder” เป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคการกินผิดปกติ หรือ เรียกง่ายๆว่า โรคกินไม่หยุด ซึ่งมี โรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) และโรคบูลิเมีย (Bulimia Nervosa) อยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่ “Binge Eating Disorder” จะไม่มีอาการชดเชยการกินเยอะ เช่น ล้วงคอให้อาเจียน กินยาถ่าย ออกกำลังกายอย่างหักโหม พบได้ประมาณ 1-3% พบบ่อยในช่วงอายุ 12-25 ปี และเพศหญิง จะมีความเสี่ยงกว่าเพศชาย 1.5-6 เท่า
สาเหตุของโรค “Binge Eating Disorder” เกิดจากอะไร?
ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ แต่คาดว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคกินไม่หยุด เช่น
- เป็นโรคอ้วน โดยผู้ที่มีอาการของโรคกินไม่หยุดกว่าครึ่งหนึ่ง มักมีโรคอ้วนเป็นโรคประจำตัว
- มีพฤติกรรมการใช้สารเสพติด หรือ ดื่มแอลกฮอล์เป็นประจำ
- ขาดความมั่นใจในรูปร่าง และมีความพึ่งพอใจในรูปร่างของตนเองต่ำ
- เคยมีประวัติเสพติดการลดน้ำหนัก เครียดกับการลดน้ำหนัก หรือ เคยล้มเหลวในการลดน้ำหนัก
- เคยผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ อย่างการสูญเสียครอบครัว เคยประสบอุบัติเหตุ หรือ ถูกทำร้าย
- คนในครอบครัวมีประวัติที่เกี่ยวข้องกับโรคการกินผิดปกติ
- มีภาวะทางจิต อย่างภาวะซึมเศร้า โรคเครียด โรคไบโพลาร์ โรคกลัว (Phobias) และภาวะป่วยทางจิตหลังเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic Stress Disorder)
สำหรับสาเหตุ ที่ทำให้เกิดอาการรับประทานอาหารมากผิดปกติ เชื่อกันว่า เกิดจากภาวะไม่สมดุลของสารเคมีในสมองอย่างเลปติน (Leptin) และเกรลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความหิว ที่หลั่งออกมามากผิดปกติ จนส่งผลให้ร่างกาย มีความอยากอาหาร นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่าความรู้สึกเครียด โกรธ เศร้า เบื่อหน่าย หรือความรู้สึกด้านลบก็สามารถกระตุ้นการหลั่งของสารเหล่านี้ได้
อาการอย่างไร? ถึงเรียกว่าป่วยโรค “Binge Eating Disorder”
- รู้สึกละอาย หรือ รังเกียจตัวเอง หลังจากกินอาหารปริมาณมาก
- มีอารมณ์ซึมเศร้า หรือ วิตกกังวล
- กินอาหารมาก จนถึงจุดที่ไม่สบายตัว หรือ รู้สึกทรมาน
- กินอาหารต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่อาจหยุดได้
- มีความรู้สึกที่ไม่อาจควบคุมการกินอาหารได้
- ชอบกินอาหารในช่วงกลางดึก
- มีการซ่อนอาหารไว้รอบบ้าน เพื่อเตรียมตัวที่จะกินได้ทุกที่ทุกเวลา
- น้ำหนักตัวขึ้นลงไม่คงที่
- มีความลำบากใจ และ พยายามหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์
- มีลักษณะของความมั่นใจที่ลดลงผิดปกติ
เมื่อมีอาการข้างต้น ควรไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรค
แพทย์จะสอบถามพฤติกรรมการกิน อย่างปริมาณอาหาร ความถี่ในการรับประทาน รวมทั้งโรคประจำตัว ซึ่งหากตรงตามเกณฑ์ของโรค หรือ มีการรับประทานอาหารในปริมาณมาก อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งต่อเนื่องกัน 3 เดือน แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็น “Binge Eating Disorder” นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และตรวจการนอนหลับ เพื่อหาโรคแทรกซ้อนจากโรคกินไม่หยุด และช่วยวางแผนรักษา
ภาวะแทรกซ้อนของโรค “Binge Eating Disorder” มีอะไรบ้าง
ปัญหาสุขภาพกาย
การได้รับสารอาหารและพลังงานมากเกินความจำเป็น อาจเพิ่มความเสี่ยงปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ / โรคกรดไหลย้อน / ภาวะไขมันในเลือดสูง / โรคอ้วน / โรคเบาหวาน / โรคหัวใจ / โรคหลอดเลือดสมอง / และโรคมะเร็ง เป็นต้น
ปัญหาสุขภาพจิต
ความรู้สึกด้านลบจากอาการของโรค อาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก ไม่อยากเข้าสังคม ซึ่งเมื่ออารมณ์เหล่านี้รุนแรงขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงในการใช้สารเสพติด หรือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลามไปจนถึงภาวะทางจิตชนิดอื่น ๆ อย่างภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคไบโพลาร์
ปัญหาในชีวิตประจำวัน
การรับประทานอาหารทีละมาก ๆ อาจส่งผลต่อบุคลิกภาพ ความมั่นใจในตนเอง รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้
การรักษาโรค “Binge Eating Disorder” มีขั้นตอนอย่างไร?
ภายหลังจากการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวต่อไปยังแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรค โดยเฉพาะ ซึ่งแพทย์อาจเลือกวิธีการรักษาที่สอดคล้องกับอาการ และสาเหตุของโรคมากที่สุด ดังนี้
การใช้ยา
โรคกินไม่หยุดจัดว่าเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่ง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านเศร้า หรือ ยากันชัก ที่มักใช้รักษาโรคทางจิตชนิดอื่น ๆ เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง และป้องกันอาการของโรค การใช้ยาเพื่อรักษาค่อนข้างให้ผลรวดเร็ว และได้ผลที่ชัดเจนกว่าการรักษาแบบอื่น แต่เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ดังนั้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงนี้ และควรใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
การเข้ารับจิตบำบัด
Cognitive Behavioral Therapy (CBT) เป็นการบำบัด ที่จะสอนให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของอารมณ์และพฤติกรรมด้านลบ ที่ทำให้เกิดอาการ รวมทั้งเรียนรู้วิธีควบคุม เพื่อลดความรุนแรงของความรู้สึกและพฤติกรรม
Interpersonal Psychotherapy (IPT) เป็นการบำบัดที่ช่วยรักษาอาการที่มีสาเหตุมาจากปัญหาความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก หรือ ครอบครัวอย่างความรุนแรง การหย่าร้าง หรือการเสียชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้ป่วย และทำให้เกิดโรคกินไม่หยุด เป็นการแก้ไขและเปลี่ยนมุมมอง
Dialectical Behavior Therapy (DBT) เป็นการบำบัดที่สร้าง 4 ทักษะ คือ การตระหนักรู้ในสาเหตุและอาการ /ความอดทนต่อความรู้สึกด้านลบ / การจัดการอารมณ์ / การพัฒนามนุษยสัมพันธ์
การลดน้ำหนัก
กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคนี้ มีโรคอ้วนเป็นโรคประจำตัว อีกทั้งจากการศึกษายังพบว่า ผู้ที่เคยล้มเหลวในการลดความอ้วนมีความเสี่ยงที่เป็นโรคกินไม่หยุด ซึ่งแพทย์อาจแนะนำวิธีลดน้ำหนัก ภายหลังจากการรักษาโรค แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลับไปมีอาการอีก เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการลดน้ำหนักอย่างถูกต้อง ทั้งปริมาณ สารอาหาร และการออกกำลังกาย
ทำยังไงไม่ให้เป็น โรคกินไม่หยุด “Binge Eating Disorder”
– นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
– รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
– ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
– ทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียดหรือความรู้สึกด้านลบอื่น ๆ
– เข้ารับการบำบัดเพื่อเรียนรู้การจัดกับอารมณ์
– ปรึกษาแพทย์เมื่อเกิดสัญญาณของโรค
สำหรับโรคกินไม่หยุด เป็นโรคที่ถ้าใครเป็นแล้ว ต้องใช้ความอดทนและความมีวินัยในการรักษาอย่างมาก แต่ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยโรคนี้ต้องการ และมีค่า นิวส์ มองว่าสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ การได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง ที่จะทำให้การรักษาประสบผลสำเร็จได้เร็วขึ้น
ที่มา : ICE SARUNYU OFFICIAL https://youtu.be/p0xmWueQkVQ
กรมสุขภาพจิต
นพ.โยธิน วิเชษฐวิชัย ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี