ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ประชาชนระมัดระวังตัวมากขึ้น ไม่กล้าออกจากบ้านไปไหน แม้กระทั่งการจับจ่ายซื้อสินค้าต่างๆ บางส่วนก็เลือกใช้วิธีซื้อทางออนไลน์ ทำให้หลายคนที่คิดจะทำธุรกิจค้าขาย เปิดหน้าร้าน กังวลว่า ถ้าเปิดแล้ว จะขายได้ไหม แล้วถ้าขายได้ ธุรกิจจะไปต่อได้นานแค่ไหน จะได้กำไร คุ้มค่ากับการลงทุนหรือเปล่า
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่ได้เกิดกับ คุณกมลรัตน์ ทิพนัด หรือ คุณมล เจ้าของธุรกิจ หมึกย่าง นาย ส. เพราะคุณมล เริ่มเปิดกิจการในช่วงโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดพอดี แถมเธอยังลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง และธุรกิจก็ยังเดินหน้าต่อมาได้อย่างมั่นคง การันตีด้วยยอดขาย 4-5 หมื่นบาทต่อเดือน!
SME ทันข่าว วันนี้ มีค่า นิวส์ จึงชวนคุณมลมาเผยเคล็ด (ไม่) ลับของธุรกิจว่า มีกลยุทธ์อย่างไร?
คุณมล เล่าจุดเริ่มต้น ที่ตัดสินใจขายปลาหมึกย่าง นาย ส. เพราะเมื่อปลายปี 2562 คุณสุรพงษ์ สมฤาแสน สามี อดีตช่างภาพสถานีข่าวแห่งหนึ่ง ถูกจ้างออกจากงาน เพราะบริษัทปิดตัวลง ได้เงินมาหลักแสนบาท ส่วนคุณมล ยังทำงานประจำอยู่ ซึ่งสามีไม่อยากเป็นลูกน้องใครอีกแล้ว เลยมานั่งคิดว่าจะขายของ จนลงตัวที่ “ปลาหมึกย่าง” เพราะชอบกิน
ทำไมถึงตั้งชื่อร้านว่า “หมึกย่าง นาย ส.”
นาย ส. คือ ฉายาของสามี ที่เพื่อนๆของเขาเรียก เลยนำมาตั้งต่อท้าย เพราะลูกค้าจะได้จดจำร้านได้ ประกอบกับทรงผมสามีชอบไว้ผมยาว มัดผม รวมถึงคาแรกเตอร์ ที่เป็นคนสนุกสนาน คิดว่าถ้าใช้ฉายานี้ คนน่าจะชื่นชอบ เป็นเอกลักษณ์ของร้านได้ดี
ขั้นตอนการวางแผนขาย ทำอย่างไรบ้าง
1.เริ่มจากศึกษาหาความรู้ ทางอินเทอร์เน็ต ทั้งวิธีการขาย แหล่งซื้อวัตถุดิบ
2.คิดค้นสูตรน้ำจิ้ม แต่ไม่ลงตัว ซึ่งตอนนั้นโชคดีมาก มีพี่ที่รู้จักกันใจดี ให้สูตรน้ำจิ้มฟรี เพราะเขาเคยขายปลาหมึก แต่ปัจจุบันเลิกขายไปแล้ว ตนชิมแล้วอร่อยถูกปาก จึงนำมาปรับเปลี่ยนสูตรเอง
3.มองหาทำเลขาย ตอนแรกมองไว้หลายที่ เพราะต้องเลือกที่ชุมชน มีคนเดินผ่านพลุกพล่าน และต้องไม่ขายติดกับเจ้าอื่น แต่ก็ยังหาทำเลที่ถูกใจไม่ได้ กระทั่งรุ่นพี่ที่สนิทกับสามี ให้เช่าหน้าร้านไปรษณีย์ ภายในซอยลาดปลาเค้า 61 กรุงเทพฯ ซึ่งตนเห็นว่าเป็นทำเลเหมาะสมกับการค้าขายมาก ทั้งใกล้ตลาด มีคนเดินพลุกพล่าน
4.เริ่มลงทุนซื้ออุปกรณ์ ทำหน้าร้าน ป้ายร้าน ด้วยเงิน 6 พันบาท แล้วก็ไปหาซื้อวัตถุดิบหลัก คือ ปลาหมึก 3 ชนิด คือ หนวดหมึกสาย / หมึกกล้วย / และคางหมึก ตามตลาดมาแบบวันต่อวัน วันละ 1-2 กิโลกรัม ราคา 1 พันบาท
5.ตั้งร้านวันแรก ต้นปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดพอดี แต่ลูกค้าเข้าร้านน้อยมาก ได้กำไรน้อย ทำให้ท้อ มีเกเรหยุดขายบ้าง แถมเกิดปัญหา คือ ขายไม่หมด ปลาหมึกเก็บไว้ไม่ได้ เงินทุนก็ใกล้หมด เลยทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีสู้ใหม่! คือ
– ศึกษาราคาปลาหมึกอย่างละเอียด จนได้แหล่งซื้อใหม่ เดินทางไปดูถึงที่ เพื่อให้แน่ใจว่า ปลาหมึก มีความสดจริงๆ
– ตัดสินใจซื้อตู้แช่แข็ง 10 คิว ราคา 7 พัน บาท ซื้อปลาหมึกมาฟรีซไว้ ครั้งละ 100 โล ใช้เงินลงทุน 1-2 หมื่นบาท
– พอจะนำออกมาขาย เราก็มีวิธีละลายเนื้อปลาหมึก ให้กรอบ สดเด้ง ด้วยวิธีที่ปลอดภัย (ขอสงวนวิธีทำ)
6.เริ่มลุยขายอีกครั้ง โดยเพิ่มวิธีการบริการ ที่เน้นเอาใจลูกค้าเป็นหลัก ทั้งปรับปรุงวิธีย่าง รสชาติน้ำจิ้ม จนสุดท้ายผลลัพธ์ดีขึ้น ลูกค้าถูกใจ บอกต่อกันแบบปากต่อปาก ธุรกิจก็เริ่มอยู่ตัว
อะไร คือ จุดเปลี่ยนของการกล้า ลาออกจากงานประจำ มาค้าขายเคียงคู่สามี
คุณมล บอกว่า ตอนแรกให้สามี ลุยธุรกิจนี้คนเดียว แล้วตัวเองทำงานประจำ คิดว่า จะได้มีรายได้สองทาง เพราะกังวล เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ค้าขายเลย แต่ระหว่างขาย ก็ศึกษาหาความรู้เอาเอง จนธุรกิจอยู่ตัว ประกอบกับ เป็นช่วงโควิด-19 ระลอก 3 แพร่ระบาด บริษัทคุณมล เริ่มเอาคนออก ปรับระบบการทำงานที่เครียดกว่าเดิม คุณมลต้องทำงานในส่วนที่ไม่ใช่งานของตัวเองเยอะขึ้น แต่เงินเดือนได้เท่าเดิม แถมไม่มีโบนัส จึงตัดสินใจลาออกมา เมื่อต้นปี 2564 ลุยธุรกิจนี้กับสามี 2 คน
รายได้ต่อเดือนเป็นอย่างไร หลังเริ่มลุยธุรกิจอย่างจริงจัง
หลังลุยกันจริงจัง เราก็มาคุยกันว่า วันหยุดของเราจะน้อยลงนะ เพื่อไม่ให้ลูกค้าลืมเรา คือ ทุกๆ 10 วันจะหยุด 1 วัน ส่วนรายได้ ถ้าหักค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างอุปกรณ์ วัตถุดิบ จะได้กำไร 1,000 – 1,500 บาทต่อวัน ถ้านับเป็นรายเดือนก็ประมาณ 4-5 หมื่นบาทต่อเดือน! ซึ่งก็ถือว่าพออยู่ได้ และเหลือส่งไปให้ครอบครัวที่อยู่จังหวัดร้อยเอ็ด
เหมือนจะไปได้สวย แต่ก็สะดุดให้กับโควิด-19 ระลอก 3
คุณมล บอกว่า ร้านเราได้รับผลกระทบ แต่ก็ไม่ถึงกับไปต่อไม่ได้ โดยแรกๆ ของการแพร่ระบาด ลูกค้าลดลง เพราะคนกลัวการออกจากบ้านมาซื้อที่ร้าน คุณมลและสามี จึงคิด 4 เคล็ด (ไม่) ลับ “หมึกย่าง นาย ส.” มาสู้กับโควิด ดังนี้
1.เพิ่มช่องทางการขาย เดลิเวอรี่ ผ่านพนักงานส่งอาหาร ทั้ง Grabfood / Foodpanda ส่งปลาหมึกให้ลูกค้าถึงบ้าน
2.เปิดรับออเดอร์แบบแฟรนไชส์ ขั้นต่ำ 100 ไม้ ราคาเริ่มต้นไม้ละ 13-17 (แล้วแต่ชนิดของปลาหมึก) ราคาน้ำจิ้มแยกต่างหาก
3.รักษาคุณภาพความสดใหม่ และรสชาติสินค้า ถ้าเนื้อหมึกไม่ดี จะไม่ขายให้ลูกค้าเด็ดขาด ยอมตัดใจทิ้ง เพื่อรักษาลูกค้าไว้
4.บริการลูกค้าทุกระดับอย่างเท่าเทียม เน้นอ่อนน้อม เป็นกันเอง เพื่อให้ลูกค้าประทับใจทุกครั้งที่มาร้าน
อนาคตวางแผนกับร้านนี้ไว้ยังไง จะทำอะไรต่อ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
คุณมล แพลนไว้ว่า ตอนนี้กำลังอยากนำปลาหมึกอีกหลายแบบมาวางขายเพิ่ม จากตอนนี้มีอยู่ 7 ชนิด ส่วนในระยะยาว หากโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย คุณมลอยากขยายสาขา 2 เพิ่มเติม และเปิดขายอาหารอีสานข้างๆ ร้าน “หมึกย่าง นาย ส.” แต่อยู่ระหว่างทดลองทำให้เพื่อนๆ และญาติ ลองชิมก่อน เพื่อปรับปรุงฝีมือให้เป็นรสชาติ ที่ทุกคนชื่นชอบให้มากที่สุด
สุดท้าย อยากให้ฝากกำลังใจ ไปถึงผู้ประกอบการคนอื่นๆ หน่อย
“สิ่งสำคัญที่สุด คือ กำลังใจของตัวเอง ท้อได้ แต่อย่าถอย คำนี้ใช้ได้เสมอ อยากให้ทุกคน ค่อยๆ คิดหาทางออก แล้วปรับเปลี่ยน เพื่อให้เราอยู่รอดในสถานการณ์นี้ไปให้ได้”