หลังเมื่อวานนี้ 28 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 (ศบศ.) เสนอมาตรการเยียวยาโควิด-19 ลูกจ้าง นายจ้าง ในระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดแคมป์คนงาน รวมถึงร้านอาหารและเครื่องดื่ม ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร รวม 1 เดือน โดยลูกจ้างรับเพิ่ม 2,000 บาท ส่วนนายจ้างรับ 3,000 บาทต่อรายหัวลูกจ้าง อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่ https://mekhanews.com/2021/06/28/steps-to-get-covid-relief-money-employee-employer-social-security/
วันนี้ 29 มิถุนายน 2564ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในมาตรการดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า กิจกรรมแบบไหนบ้าง ถึงจะเข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา มีค่า นิวส์ จึงสรุปมาให้ดูกัน!
1.กิจการก่อสร้าง
2.กิจการที่พักแรม และบริการด้านอาหาร
3.กิจการด้านศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ
4.กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ รวมถึงการซ่อมต่างๆ แบ่งเป็น
– ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ / ซ่อมอุปกรณ์สื่อสารโทรศัพท์มือถือ / ซ่อมอิเล็กทรอนิกส์ / ซ่อมเครื่องใช้ในครัวเรือน /ซ่อมรองเท้า / เครื่องหนัง / เฟอร์นิเจอร์ / นาฬิกา / เครื่องแต่งกาย / จักรยานยนต์สองล้อ / เครื่องดนตรี กีฬา
– ร้านสปา / บริการลดน้ำหนัก / แต่งผมดูแลความงาม / แต่งเล็บมือ เล็บเท้า / การบริการซักรีด
– ร้านดูแลสัตว์เลี้ยง
สำหรับการแจกเงินเยียวยา มีค่า นิวส์ ขอย้ำอีกรอบ
กลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบมาตรา 33 ที่เป็นสัญชาติไทย จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมปกติที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานในอัตรา ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทตลอดระยะเวลา ที่มีคำสั่งปิดสถานที่
ส่วนผู้ประกอบการ หรือ นายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมสูงสุดดูตามจำนวนรายของลูกจ้างที่มี ซึ่งจำนวนที่จะได้รับการเยียวยา คือ 3,000 บาท ต่อหัวสูงสุดไม่เกิน 200 ราย ดังนั้นหมายความว่า ต่ำสุดที่จะให้นายจ้าง คือ 3,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 600,000 บาท แล้วแต่จำนวนลูกจ้างที่มีอยู่ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
กรณีผู้ประกอบการ ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ถุงเงิน โดยผ่านโครงการคนละครึ่งให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยผู้ประกอบการจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท
ในกรณีที่ผู้ประกอบการอยู่ในหมวดของร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ในโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง ก็จะได้รับการช่วยเหลือจำนวน 3,000 บาทเช่นเดียวกัน