นายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตนได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ทำวิจัยโครงการระบบบริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยเน้นพัฒนาระบบ iMAP จากการบูรณาการข้อมูลแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านสาธารณสุข ข้อมูลประชากร หรือข้อมูลที่ตั้งโรงงาน ตลาด ชุมชนแออัด ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกันจนนำไปสู่คำตอบที่บอกเราได้ว่าควรจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยปัจจุบันระบบบูรณาการข้อมูล หรือ iMAP สามารถสนับสนุนการทำงานให้กับ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยใช้ภูมิสารสนเทศและข้อมูลภาพจากดาวเทียมมาช่วยกำหนดพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดจนนำไปสู่การควบคุมพื้นที่ระบาดได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
นายตติยะ กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก GISTDA ได้พัฒนาระบบข้อมูลที่เรียกว่า COVID-19 iMap ขึ้น ซึ่งเป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีปริมาณข้อมูลอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาเสนอในรูปแบบของแผนที่ดิจิทัลและแดชบอร์ด (Dash Board: เป็นการนำข้อมูลมาสรุปให้เห็นเป็นภาพในหน้าเดียว) โดยนำภาพจากดาวเทียมมาใช้ประกอบการกำหนดพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด พร้อมรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อรายอำเภอ รายจังหวัด การกระจายตัวของโรค หน้ากากอนามัยฯ ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานประกอบการตัดสินใจของศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด–19 (ศปก.ศบค.) และผู้ใช้งานที่ปฏิบัติการจากหน่วยงานส่วนกลางและระดับจังหวัดในการบริหารจัดการทรัพยากรด้านสาธารณสุข แต่เมื่อเกิดการระบาดในรอบที่ 2 GISTDA ได้ทำการพัฒนาระบบ iMAP ไว้สำหรับใช้บริหารสถานการณ์ฯ ในพื้นที่กรุงเทพ ฯ โดยบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กทม. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข การเคหะแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อรวบรวมข้อมูลในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสนามตามจุดต่างๆ ข้อมูลของชุมชนแออัด รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหลากหลายด้าน เพื่อนำมาประกอบการรายงานผล และใช้ประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบายให้กับ ศปก.ศบค. ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารทรัพยากรทางการแพทย์ได้อย่างเต็มศักยภาพ และการกำหนดเป็นมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อลดการแพร่ระบาดในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ได้อย่างรวดเร็ว และในช่วงการระบาดในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ระบบ iMAP ก็ยังถูกนำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อรายงานและติดตามข้อมูลเชิงพื้นที่ สถานการณ์การระบาด การกระจายตัวของโรค และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่แต่ละแห่ง เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อลดการแพร่ระบาด นอกเหนือจากการรายงานข้อมูลพื้นฐานแล้ว ในอนาคตคาดหวังว่า ระบบ COVID-19 iMap จะช่วยคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น หากมีการเคลื่อนย้ายคน มีการล็อคดาวน์ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร โดยอาจจะต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมวิจัยและพัฒนาต่อไปในอนาคต