สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ที่ผ่านมา มีประชาชนไปรอคิวตรวจหาเชื้อและรอเตียงรักษาจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุข จึงกำหนดแนวทางดูแลผู้ป่วยโควิด ที่ไม่มีอาการ หรือ อาการน้อย โดยให้กักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation)
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าระบบการดูแลที่บ้าน คือ ผู้ป่วยใหม่อาการเล็กน้อย หรือ ไม่มีอาการอยู่ระหว่างรอเตียง หรือ ผู้ป่วยที่รักษามาแล้ว 7-10 วัน อาการคงที่ให้กลับมาดูแลต่อที่บ้าน โดยแพทย์จะพิจารณาหลักเกณฑ์ดังนี้
- ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย
- อายุน้อยกว่า 60 ปี
- สุขภาพแข็งแรง
- พักอยู่คนเดียวหรือมีคนพักรวมไม่เกิน 1 คน
- ไม่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัมหรือค่าดัชนีมวลกายเกิน 30
- ไม่มีโรคร่วมสำคัญ คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
- ยินยอมในการแยกตัว
สำหรับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยขณะดูแลรักษาที่บ้าน คือ
- ไม่ให้ใครมาเยี่ยม
- เว้นระยะห่างจากคนอื่น 2 เมตร
- แยกห้องพัก หากทำไม่ได้ให้แยกจากคนอื่นให้มากที่สุด อากาศต้องถ่ายเท
- ห้ามกินดื่มด้วยกัน
- สวมหน้ากากตลอดเวลา
- ล้างมือบ่อยๆ
- แยกเครื่องใช้ส่วนตัวทั้งหมด
- แยกซักเสื้อผ้า
- ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่นหรือใช้หลังสุดและทำความสะอาด
- แยกขยะ
ทั้งนี้ สถานพยาบาลจัดระบบเข้ามาดูแลติดตามอาการ โดยมีอาหาร 3 มื้อ ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ให้ยาตามดุลยพินิจแพทย์ มีระบบเทเลเมดิซีนพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา หากอาการเปลี่ยนแปลงจะนำส่งโรงพยาบาล
ส่วนกรณีแยกห้องพักไม่ได้ อาจใช้แนวทางดูแลผู้ป่วยที่ชุมชน ซึ่งกทม.ร่วมกับกรมการแพทย์ดำเนินการศูนย์พักคอย 16 ศูนย์ ใน 15 เขต รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย เตรียมไว้ประมาณ 2,500 คน จัดแพทย์ พยาบาล ระบบไอทีติดตามอาการ