หลังจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับมูลนิธิเขื่อนยันฮี และภาคีเครือข่าย จัดตั้งโครงการ “ผลิตหมวกป้องกันเชื้อ (PAPR) เพื่อบุคลากรทางการแพทย์” โดยใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญของทีมช่างจิตอาสา ผลิตหมวกดังกล่าว เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลต่างๆ กว่า 35 แห่งทั่วประเทศ อ่านย้อนหลังที่ https://mekhanews.com/2021/07/15/protective-cap-papr-for-the-breath-of-the-medical-team-to-fight-covid/
ล่าสุด รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลฯ นำ “หมวกป้องกันเชื้อ PAPR” ไปทดลองใช้งานจริง เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะให้ทาง กฟผ. นำไปปรับปรุงพัฒนา จนเหมาะสมต่อการใช้งาน เพื่อร่วมปกป้องทีมแพทย์พยาบาลให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 ขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยใส่ควบคู่ไปกับชุด PPE
ผลลัพธ์หลังการใช้งาน พบว่า สามารถใช้งานได้นานถึง 8 ชั่วโมง โดยไม่รู้สึกอ่อนล้า เนื่องจากหมวกป้องกันเชื้อ PAPR เป็นหมวกความดันบวก ทำให้อากาศภายในไหลเวียนดี มีระบบกรองอากาศดักจับเชื้อโรคภายนอก น้ำหนักเบา มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ไม่มีเสียงพัดลมรบกวน ใช้ได้ตั้งแต่ในห้องฉุกเฉิน การรักษาผู้ป่วยในห้อง ICU ไปจนถึงการชันสูตรพลิกศพ
สำหรับหมวกป้องกันเชื้อ PAPR เกิดจากน้ำใจของคนไทยร่วมกัน กับ กฟผ. ระดมทุนผ่านแพลตฟอร์ม ‘เทใจ’ โดยปัจจุบัน กฟผ. ผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ได้ประมาณ 300 ใบ ส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลแล้วกว่า 35 แห่งทั่วประเทศ และคาดว่าจะส่งมอบได้ครบตามเป้า 500 ใบ ภายในเดือนกรกฎาคมนี้