เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเผยแพร่ประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุอื่นเป็นเครื่องสำอาง โดยอาศัยอำนาจตามความใน (3) ของบทนิยามคำว่า “เครื่องสำอาง” ในมาตรา 4 และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
“ให้ผ้าอนามัยชนิดสอด ที่ใช้สอดใส่เข้าไปในช่องคลอด เพื่อซับเลือดประจำเดือนเป็นเครื่องสำอาง”
ลงชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 29 มิ.ย.64
พร้อมระบุเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ นิยามของคำว่า “เครื่องสำอาง” ในมาตราที่ 4 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติให้วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกระทรวงเป็นเครื่องสำอาง และโดยที่มีความจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของผ้าอนามัยชนิดสอด เพื่อให้สามารถคุ้มครองความปลอดภัยและอนามัยของผู้บริโภค ได้ สมควรกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอาง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
ด้านประชาชนโดยเฉพาะผู้หญิง ถึงกับออกอาการงง และไม่พอใจ พากันติดแฮชแท็ก #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ เนื่องจากมองว่า การเป็นเครื่องสำอาง จะทำให้ต้องมีภาระเสียภาษีเพิ่มมากขึ้นจาก 7% เป็น 30% ทั้งๆที่เป็นของที่ต้องใช้เป็นประจำทุกเดือน
พร้อมมองว่า การรณรงค์เรื่อง ผ้าอนามัยฟรี ไม่มีภาษี เป็นสิ่งที่รณรงค์กันมานาน และควรจะเป็นสิ่งที่ฟรี สำหรับประชาชน พร้อมยกตัวอย่าง ประเทศที่ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยมาแล้ว หลายประเทศ เช่น มาเลเซีย เยอรมัน ออสเตรเลีย เป็นต้น
ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ไม่มีนโยบายจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และไม่เคยกำหนดผ้าอนามัยอยู่ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตด้วย โดยปัจจุบันผ้าอนามัยเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เท่านั้น ไม่ได้เสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยหรือมีเพดานการจัดเก็บภาษีที่สูงแต่อย่างใด
ส่วนนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี แต่เพื่อเป็นการควบคุมตามกฎหมายของสาธารณสุข โดยในส่วนของกรมศุลกากรยืนยันว่าไม่มีนโยบายเพิ่มอัตราภาษีสินค้าผ้าอนามัยแบบสอด ที่สำคัญหากมีการนำเข้าโดยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ก็จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าอีกด้วย
ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/048/T_0016.PDF