สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงวิกฤต ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงต่อเนื่อง จนทำให้หลายคนกังวล ไม่กล้าออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน พร้อมระมัดระวังป้องกันตัวเองอย่างดี ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอลล์ เป็นต้น
แต่ถ้าในกรณีที่เกิดไปใกล้ชิด สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมา แล้วตรวจคัดกรองพบว่าติดเชื้อโควิด-19 คำถาม คือ จะทำอย่างไรต่อไป ? ต้องติดต่อใคร ? และถ้าไม่มีเตียงรองรับจะทำยังไง ? มีค่า นิวส์ เลยขอรวบรวมวิธีการปฏิบัติตัว หากติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกคนค่ะ
เริ่มจากตั้งสติ เช็กอาการ….เป็นผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มไหน ?
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แบ่งกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ออกเป็น 3 สี ตามอาการที่ปรากฏ ดังนี้
1.ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว อาการที่พบส่วนใหญ่ คือ เจ็บคอ / ไม่ได้กลิ่น / ไม่รู้รส / ไอ / มีน้ำมูก / มีผื่น
/ ถ่ายเหลว / ตาแดง / อุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศาฯขึ้นไป
2.ผู้ป่วยสีเหลือง อาการที่พบส่วนใหญ่ คือ แน่นหน้าอก / ปอดอักเสบ / หายใจลำบาก / เวียนหัว
/ อ่อนเพลีย / ไอแล้วเหนื่อย / ถ่ายเหลว 3 ครั้งต่อวัน หรือ มากกว่า / อาการแทรกซ้อนจากโรคประจำตัว
3.ผู้ป่วยสีแดง อาการที่พบส่วนใหญ่ คือ หอบเหนื่อยหนักมาก / แน่นหน้าอก / หายใจเจ็บ
/ อ่อนเพลีย / ตอบสนองช้า / ไม่รู้สึกตัว
เข้าสู่ขั้นตอนการรักษา แบ่งตามอาการ ดังนี้
ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว
1.กรณีไม่มีอาการ หรือ มีอาการเล็กน้อย แล้วไปตรวจคัดกรองเชิงรุกฟรี แบบ Antigen Test kit ตามหน่วยงานต่างๆ แล้วถ้าผลตรวจออกมาติดเชื้อ จะถือว่ามีชื่อในระบบทันที ให้กลับไปกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ ภายใน 24-48 ชั่วโมง เพื่อดูแลรักษา
(แต่ถ้ากรณีที่รอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับนานเกิน 48 ชั่วโมง ให้โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 0)
2.กรณีไปตรวจที่โรงพยาบาลต่างๆ แล้วพบติดเชื้อ แต่ยังไม่มีอาการ หรือ มีอาการเล็กน้อย ให้บอกโรงพยาบาลที่ตรวจให้ว่า ขอเข้าระบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)
3.กรณีไปตรวจตามแล็บต่างๆที่ไม่ใช่โรงพยาบาล แล้วพบติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ หรือ มีอาการเล็กน้อย และไม่มีใครโทรมาหานานเกิน 48 ชั่วโมง ให้โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 0 หรือ กด 14 เพื่อขอเข้าระบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)
นอกจากนี้ ยังมีช่องทางการเข้าสู่ระบบการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) โดยเข้าไปลงทะเบียนที่เว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. https://crmsup.nhso.go.th แล้วกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ นามสกุล เบอร์โทร วันที่ทราบผลตรวจ เป็นต้น
หรือ ถ้าใช้สิทธิบัตรทอง โทร 1330 กด 14 สิทธิประกันสังคมโทร 1506 กด 6
หรือ เพิ่มเพื่อนใน Line : @nhso เลือกบริการเกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อกรอกข้อมูลเข้าสู่ระบบได้
แพทย์จะพิจารณาหลักเกณฑ์กักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ดังนี้
- ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย
- อายุน้อยกว่า 60 ปี
- สุขภาพแข็งแรง
- พักอยู่คนเดียวหรือมีคนพักรวมไม่เกิน 1 คน
- ไม่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัมหรือค่าดัชนีมวลกายเกิน 30
- ไม่มีโรคร่วมสำคัญ คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
- ยินยอมในการแยกตัว
สำหรับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยขณะดูแลรักษาที่บ้าน คือ
- ไม่ให้ใครมาเยี่ยม
- เว้นระยะห่างจากคนอื่น 2 เมตร
- แยกห้องพัก หากทำไม่ได้ให้แยกจากคนอื่นให้มากที่สุด อากาศต้องถ่ายเท
- ห้ามกินดื่มด้วยกัน
- สวมหน้ากากตลอดเวลา
- ล้างมือบ่อยๆ
- แยกเครื่องใช้ส่วนตัวทั้งหมด
- แยกซักเสื้อผ้า
- ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่นหรือใช้หลังสุดและทำความสะอาด
- แยกขยะ
ทั้งนี้ สถานพยาบาลจัดระบบเข้ามาดูแลติดตามอาการ โดยมีอาหาร 3 มื้อ ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ให้ยาตามดุลยพินิจแพทย์ มีระบบเทเลเมดิซีน พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา หากอาการเปลี่ยนแปลงจะนำส่งโรงพยาบาล
ล่าสุด!! กระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่ คู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน (Home isolation) ที่คุณหมอหลายท่าน ช่วยกันรวบรวมข้อมูลสำคัญ เพื่อให้ใครก็ตามที่กำลังมองหาทางเลือกในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดในสถานการณ์นี้. คลิก ดาวน์โหลด ได้ที่ >> http://ssss.network/rnzwu
ส่วนกรณีแยกห้องพักไม่ได้ อาจใช้แนวทางดูแลผู้ป่วยที่ชุมชน (Community Isolation)
ซึ่ง กทม.ร่วมกับกรมการแพทย์ดำเนินการศูนย์พักคอย หรือ โรงพยาบาลสนาม โดยจะต้องเป็นสถานที่โล่งๆ เช่น ศาลาวัด / หอประชุมโรงเรียน / แคมป์คนงาน หรือ หมู่บ้าน ต้องไม่เกิน 200 คน เพื่อลดความแออัด และจัดการสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ
หลักเกณฑ์สำคัญในการปฏิบัติงานของ Community Isolation คือ
- ผู้ติดเชื้อ ต้องสมัครใจ และสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้
- มีช่องทางสื่อสารผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์ วิดีโอคอล ติดตามอาการทุกวัน โดยแพทย์ พยาบาล วันละ 2 ครั้ง และมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน
- ต้องลงทะเบียนกับสถานพยาบาล (มีแผนขยายไปยังชุมชนอบอุ่น และสถานพยาบาลใกล้บ้าน)
- จะมีการตรวจอุณหภูมิ และตรวจวัดออกชิเจนในเลือด และแนะนำวิธีทดสอบง่ายๆ ว่าปอดมีปัญหาหรือไม่ โดยวัดออกชิเจนในเลือด ก่อนออกกำลังกาย ลุกนั่ง 1 นาที และวัดซ้ำหลังทำ หากออกชิเจนลดลงมากกว่า 3 % จะรักษาที่โรงพยาบาล
- จัดเตรียมระบบรีเฟอร์ผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน
ผู้ป่วยที่เข้าร่วมแยกกักตัวในชุมชนจะได้รับสนับสนุน ดังนี้
– การวัดอุณหภูมิ
– มีแพทย์พยาบาลติดตามอาการใกล้ชิดด้วยระบบเทเลเมดิซีน (telemedicine)
– การวัดออกซิเจนในเลือด
– การดูแลอาหารครบ 3 มื้อ
– ส่งต่อโรงพยาบาลเมื่ออาการเปลี่ยนแปลง
“อย่างไรก็ตาม ระหว่างกักตัวทั้งสองแบบ ควรงดออกจากที่พัก หรือ เดินทางข้ามจังหวัด หากฝ่าฝืนถือว่ามีความผิด พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34”
**แต่ถ้ากรณีผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ที่อยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ต้องการกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา ควรลงทะเบียนเข้าสู่ระบบที่ https://crmdci.nhso.go.th/ หรือ โทรสายด่วน 1330 กด 15 จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่พาส่งกลับตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด แถมยังไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย
สำหรับพาหนะในการส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนากระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม จัดเตรียมรถไฟ รถบขส. และรถตู้ไว้บริการ นอกจากนี้ ยังประสานกรมการขนส่งทหารบก กรมแพทย์ทหารบก จัดรถขนาดใหญ่ หรือ เครื่องบิน โดยผู้ที่จะเดินทางกลับโดยเครื่องบินต้องผ่านการประเมินสุขภาพว่า พร้อมสำหรับการเดินทาง (Fit to Fly) จัดบุคลากรทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ดูแลตลอดการเดินทาง
สำหรับรถบัส รถทัวร์ จะมีรถพยาบาลฉุกเฉินตามไปด้วย ส่วนรถไฟและเครื่องบินจะมีบุคลากรทางการแพทย์ติดตามเพื่อดูแลหากมีเหตุฉุกเฉิน โดยจะจัดยานพาหนะไว้ 3 ช่วง คือ
– ช่วงแรก เป็นการไปรับส่งผู้ป่วยจากบ้านมายังสถานีรถไฟ บขส. หรือ เครื่องบิน เนื่องจาก กทม.มีการใช้รถรับส่งผู้ป่วยจำนวนมาก
– ช่วงที่สอง คือ ยานพาหนะที่รับส่งระยะยาว คือ รถบัส รถไฟ เครื่องบิน เป็นต้น
– ช่วงที่สาม คือ การรับส่งที่จังหวัดปลายทาง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ โรงพยาบาลจะจัดรถมารับ
ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง และผู้ป่วยกลุ่มสีแดง
หลังทราบว่าติดเชื้อ และมีอาการหนัก ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ไปตรวจหาเชื้อ หรือ โรงพยาบาลตามสิทธิการรักษา เพื่อให้หาเตียงให้ก่อน แต่ถ้าไม่ได้เตียง ให้รีบโทรสายด่วน กรมการแพทย์ 1668 เพื่อให้ช่วยหาเตียง
แต่ถ้าโทรไม่ติด แนะนำโทรสายด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ศูนย์เอราวัณ กทม. 1646 / กรมควบคุมโรค 1442 / 1323 กรมสุขภาพจิต / 1330 สปสช. / สายด่วน 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (ซึ่งทาง กสทช.เปิดให้เป็นเบอร์โทรฟรีแล้ว ตามเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่เราใช้งาน)
นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าไลน์ Line ID: @1668.reg หรือ @sabaideebot (สบายดีบอต) เพื่อกรอกข้อมูลเข้าระบบ เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่อีกทางหนึ่ง แล้วรอการติดต่อกลับ เพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ โรงพยาบาลสนามต่อไป
แนวทางรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของแพทย์ แต่เราควรรู้ไว้ (ฉบับปรับปรุง 21 ก.ค.2564)
กรมการแพทย์ ได้กำหนดแนวทางการดูแลผู้ป่วยไว้ 4 กลุ่ม ดังนี้
1.ผู้ป่วยไม่มีอาการอื่น ๆ หรือสบายดี
-ให้แยกกักตัวที่บ้าน หรือในสถานที่รัฐ จัดให้อย่างน้อย 14 วัน
– ให้ยาฟ้าทะลายโจร ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์
2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง
-พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เร็วที่สุด
-หากตรวจพบเชื้อมาเกิน 7 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จําเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้น่าจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
-ให้แยกกักตัวที่บ้านหรือในสถานที่รัฐจัดให้ 14 วัน
-หากเข้าเกณฑ์รักษาแบบ home isolationหรือ community isolation ก็สามารถให้การรักษาได้ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น อย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง
3.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง แต่ที่มีปอดบวม (pneumonia) เล็กน้อย/มีปัจจัยเสี่ยง คือ กลุ่มผู้สูงอายุ มากกว่า 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือดโรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน(น้ำหนักมากกว่า 90 กก.) โรคมะเร็ง และ โรคเบาหวาน รวมถึงตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
-ให้รักษาในโรงพยาบาลโดยให้อยู่ในระบบการรักษาและการแยกโรคอย่างน้อย 14 วันนับจากวันที่เริ่มมี อาการหรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น
– ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุดให้ยานาน 5 วัน หรือมากกว่า ขึ้นกับอาการและความเหมาะสมหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
– พิจารณาให้ corticosteroid ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ ในกรณีที่มีผู้ป่วยมีอาการและภาพถ่ายรังสีปอดที่แย่ลง
4.ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดบวม หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจน ใช้ค่าที่วัดได้ครั้งแรกขณะออกแรง หรือภาพรังสีทรวงอก
-ให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก
-อาจพิจารณาให้lopinavir/ritonavir5-10วันร่วมด้วย(ตามดุลยพินิจของแพทย์)
ถ้ารักษาโควิด-19 หายแล้ว ทำอย่างไรต่อ ?
เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาหายและออกจากโรงพยาบาลแล้ว ต้องปฎิบัติดังต่อไปนี้
1.งดออกจากบ้านไปยังชุมชนทุกกรณี ยกเว้นการเดินทางไปโรงพยาบาลโดยการนัดหมายและการจัดการโดยโรงพยาบาล
2.ให้แยกห้องนอนจากผู้อื่น
– ถ้าไม่มีห้องนอนแยกให้นอนห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย3-5เมตร
– ต้องเป็นห้องที่เปิดให้อากาศระบายได้ดี
– ผู้ติดเชื้อนอนอยู่ด้านใต้ลม หากไม่สามารถจัดได้อาจจะต้องให้ผู้ติดเชื้อพักที่ศูนย์แยกโรคชุมชน
จนพ้นระยะการแยกโรค
3.ถ้าแยกห้องน้ำได้ควรแยก
– ถ้าแยกไม่ได้ให้เช็ดพื้นผิวที่มีการสัมผัสด้วยน้ำยาทําความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์หลังการใช้ทุกครั้ง
4.การดูแลสุขอนามัยให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น
5.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจํา โดยเฉพาะหลังจากถ่ายปัสสาวะ หรืออุจาระหรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์70%
6.ไม่รับประทานอาหารร่วมวงกับผู้อื่น
7.หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นในระยะไม่เกิน 2 เมตร การพบปะกันให้สวมหน้ากากตลอดเวลา
8.ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอรับประทานอาหารที่สุก สะอาด และมีประโยชน์ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ
9.หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบหายใจไม่สะดวก เบื่ออาหารให้ติดต่อสถานพยาบาล หากต้องเดินทางมา สถานพยาบาลแนะนําให้สวมหน้ากากระหว่างเดินทางตลอดเวลา
10.หลังจากครบกำหนดการกักตัวตามระยะเวลานี้แล้ว สามารถประกอบกิจกรรมทางสังคมและทํางานได้ตามปกติตามแนวทางชีวิตวิถีใหม่
ถ้าทุกคนอ่านจนครบถ้วนมาถึงตรงนี้ มีค่า นิวส์ เชื่อว่าทุกคนจะมีความเข้าใจระบบการรักษาโควิด-19 มากขึ้น และสามารถปฏิบัติตัวตามได้ มีค่า นิวส์ ขอเป็นกำลังใจให้ เราจะผ่านโรคนี้ไปด้วยกันนะคะ