หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) โดยมีรายละเอียดมากถึง 11 ข้อ มีค่า นิวส์ จึงสรุปมาให้เข้าใจกันแบบง่ายๆ ดังต่อไปนี้
1.การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์
จำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์ตามรายชื่อจังหวัด หรือ ที่เราเรียกว่า การแบ่งโซนสีใหม่ ซึ่งครั้งนี้ ศบค.แบ่งใหม่ให้เหลือแค่ 3 สี ดูเขตพื้นที่ตามสีที่นี่ https://mekhanews.com/2021/08/01/lockdown-for-14-days-how-to-adjust-the-new-surveillance-area/
2.การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการ สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ได้แก่
- การลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทาง
- การห้ามออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น
- การขนส่งสาธารณะ การปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน และมาตรการควบคุมบูรณาการเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือ กิจกรรมที่มีความเสี่ยง รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่กำหนดขึ้น และไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้ ยังคงใช้บังคับต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564
3.การปรับเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคม และตรวจคัดกรองการเดินทาง พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)
มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) / ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) / กรุงเทพมหานคร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด ในเส้นทางข้ามเขตจังหวัด
ส่วนการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไปยังพื้นที่อื่น เพื่อการตรวจคัดกรอง ชะลอ หรือสกัดกั้นการเดินทางของบุคคล ให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนด และให้พิจารณาบุคคลที่ได้รับยกเว้น
4.ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันของบุคคล ดังนี้
- พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ห้ามจัดกิจกรรม รวมกลุ่มมากกว่า 5 คน
- พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ห้ามจัดกิจกรรม รวมกลุ่มมากกว่า 20 คน
- พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ห้ามจัดกิจกรรม รวมกลุ่มมากกว่า 50 คน
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. กำหนดให้ ศปม. พิจารณามาตรการที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อการเข้าระงับยับยั้ง การตรวจสอบ การยุติการชุมนุม หรือ การทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
5.กิจกรรมที่ได้รับยกเว้น หรือ การรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต มีดังนี้
- กิจกรรมเกี่ยวกับการขนส่งหรือขนย้ายประชาชน เช่น การขนส่งประชาชน เพื่อเดินทางตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือ สถานที่เพื่อการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรก
- กิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข
- กิจกรรมเกี่ยวกับการให้บริการ การให้ความช่วยเหลือ หรืออำนวยความสะดวกประชาชน
- การรวมกลุ่มของบุคคลตามปกติ ในที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน การประชุมโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ การออกกำลังกายในสถานที่ตามที่ทางราชการกำหนด
- กิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ เป็นกิจกรรมที่จัดโดยองค์กร หรือ หน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของหัวหน้าหน่วยงานดังกล่าว หรือ กิจกรรมอื่นตามที่ ศปม. กำหนด
6.การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือ กิจกรรมที่มีความเสี่ยง คือ
- ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)ให้เปิดได้จนถึงเวลา 20.00 น. และให้ขายผ่านบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service) เท่านั้น ไม่ให้เปิดขายหน้าร้านให้ลูกค้าโดยตรง และต้องมีระบบการคัดกรอง ตรวจสอบการลงทะเบียน ผู้ขนส่งอาหารก่อนเข้าพื้นที่ / จัดระบบคิว / และกำหนดพื้นที่เฉพาะสำหรับรอคิว / มีบริเวณพักคอย ซึ่งมีการเว้นระยะห่างที่นั่ง หรือ ยืนที่เหมาะสม
- กลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) พิจารณาปรับมาตรการเพื่อให้พื้นที่หรือสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร สถานที่พักอาศัยชั่วคราว
- สำหรับแรงงาน งานก่อสร้าง และการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงาน ที่เคยมีประกาศให้ปิดสถานที่ หรือ หยุดดำเนินการ แต่ต่อมาสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ ก็ให้เปิดดำเนินการได้ภายใต้มาตรการ ที่กระทรวงสาธารณสุขหรือทางราชการกำหนด
7.การปรับเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคม การเดินทางของกลุ่มแรงงานก่อสร้างพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ให้ ศบค.มท. ศปม.กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล พิจารณาผ่อนคลายมาตรการคัดกรองการเดินทางเข้าออกของแรงงานก่อสร้าง ที่เดินทางข้ามเขตจังหวัดในเส้นทางคมนาคมเข้าออกกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลายในข้อกำหนดฉบับนี้
8.มาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างทั่วราชอาณาจักร
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณานำมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่
ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) มาใช้บังคับให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่
9.มาตรการเพื่อการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงาน สถานประกอบกิจการหรือโรงงานทั่วราชอาณาจักร
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการตรวจสอบ กำกับดูแล ประเมินผลการปฏิบัติเฉพาะ Bubble and Seal เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ ยังคงให้สถานประกอบกิจการหรือโรงงานดำเนินกิจการต่อไปภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด มีมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) เช่น มีการบริหารจัดการในการแยกผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ และกลุ่มเปราะบาง มีบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งมีการจัดเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
10.การกำหนดมาตรการเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัด เพื่อให้การป้องกันและควบคุม การระบาดของโรคสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด อาจพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ในการสั่งปิด จำกัด หรือ ห้ามการดำเนินการของสถานที่ กิจการ หรือ สั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่น ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เป็นการเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่ส่วนกลางกำหนดได้ โดยให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. หรือ ศบค.มท. กำหนด
11.การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 โดยให้ประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมของมาตรการตามข้อกำหนดนี้ทุกห้วงระยะเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป