กรณีนายจ้าง มีประกาศ หรือ คำสั่งให้ลูกจ้างทุกคนเข้ารับการตรวจจากแพทย์ หรือ รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (การฉีดวัคซีน) เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ไม่ปรากฏว่า มีกฎหมายให้อำนาจนายจ้างดำเนินการดังกล่าวได้ แม้จะมีเจตนาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดก็ตาม
ซึ่งนายจ้างจะมีสามารถทำเช่นนั้นได้ เฉพาะในกรณีที่ลูกจ้างมีความเสี่ยง หรือ ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด–19 อีกทั้งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มอบอำนาจให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เป็นผู้สั่งให้ลูกจ้างที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด–19 เข้ารับการตรวจ
ดังนั้น นายจ้างจึงไม่สามารถกระทำได้ หากนายจ้างไม่ให้ลูกจ้าง ที่ไม่ผ่านการตรวจ หรือ ไม่ได้เข้ารับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเข้าทำงาน นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง และหากนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงาน และไม่จ่ายค่าจ้างให้ หรือ มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่แสดงว่าเป็นการเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างด้วย
อย่างไรก็ตาม หากข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด–19 นายจ้างอาจมีคำสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจจากแพทย์ หรือ คำสั่งให้ลูกจ้างเข้ารับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเพื่อป้องกันโรค เป็นการเฉพาะรายได้ ถือว่าคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งที่มีลักษณะกำหนดขึ้นเพื่อคัดกรองป้องกัน เฝ้าระวัง รักษา ควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19
อีกทั้งยังเป็นการป้องกันสุขภาพของบุคคลอื่น จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุอันสมควร ถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายตามนัยมาตรา 119 (4) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด– 19 นายจ้างควรให้ความรู้แก่ลูกจ้างว่าการเข้ารับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด–19 รวมทั้งควรสร้างความเข้าใจให้แก่ลูกจ้างว่า การเข้ารับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองและภูมิคุ้มกันหมู่ อีกทั้งยังเป็นการช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด– 19 ได้อีกด้วย