กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 4 ชนิด โดยฝีมือนักวิจัยไทย ที่มีความก้าวหน้าต่อเนื่อง นับเป็นความหวังของไทยในการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีน ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ มีค่า นิวส์ จึงพาทุกคนมาทำความรู้จักกับวัคซีน 4 ชนิดนี้
1.วัคซีน ChulaCov19
เป็นวัคซีนชนิด mRNA ป้องกันการติดเชื้อ โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ทดลองในลิงและหนู พบว่า ช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงได้ผลิตและทดสอบทางคลินิก 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ฉีดให้กับอาสาสมัครคนไทย 2 กลุ่มอายุ รวม 72 คน ประกอบด้วย อายุ 18-55 ปี และ อายุ 65-75 ปี เพื่อหาปริมาณวัคซีน ChulaCov 19 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด / กำลังจะเข้าสู่ระยะที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป ในกลุ่มคนไทย 150-300 คน
จุดเด่น คือ
– สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียส ได้นาน 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียส นาน 2 สัปดาห์
– ผลิตได้เร็ว ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้อ สังเคราะห์ในหลอดทดลอง ไม่เกิน 4 สัปดาห์ ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ และสามารถปรับแต่งวัคซีนต้นแบบตามพันธุกรรมของเชื้อกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
– ป้องกันโรคโควิด-19 และลดจำนวนเชื้อได้อย่างมากในหนูทดลอง ป้องกันหนูไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดได้
2.วัคซีนใบยา
พัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างนวัตกรรมการใช้เซลล์ใบยาสูบในกระบวนการสร้างวัคซีน ชี้ให้เห็นว่า จากการทดลองวัคซีนในหนู สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก และมีความปลอดภัย จึงวางแผนการพัฒนาวัคซีนเป็น 2 Generation คือ การขยายผลทดลองในมนุษย์ในระยะที่ 1 ในเดือนกันยายน 2564 เพื่อหาขนาดของวัคซีนที่เหมาะสมในการกระตุ้นภูมิ รวมถึงมีความปลอดภัย เพื่อนำข้อมูลไปใช้กับวัคซีน Generation ที่สอง คือ การปรับสูตรให้สามารถครอบคลุมสายพันธุ์ต่าง ๆ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น โดยได้เตรียมทดสอบในมนุษย์ ระยะที่ 1 และ 2 ในเดือนธันวาคม 2564 ต่อไป
3.วัคซีน NDV-HXP-S
พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม และมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย โดยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ที่ผลวิจัยพบว่า มีความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในสัตว์ทดลอง ถือเป็นวัคซีนตัวแรก ที่ได้เริ่มการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ขณะนี้ได้ทดสอบในระยะที่ 2 เรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา
คาดว่าปลายปีนี้จะได้ทราบผล และจะทดสอบในระยะที่ 3 ต่อไป โดยการพัฒนาในครั้งนี้ ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จึงไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานใหม่ และได้รับความร่วมมือในระดับนานาชาติ จากองค์การ PATH และ ผู้ผลิตทั้งเวียดนามและบราซิล จึงมีความปลอดภัยสูง
4.วัคซีนโควิเจน
เป็นวัคซีนชนิดดีเอ็นเอ พัฒนาโดย บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุมัติกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ภายในเดือนตุลาคม 2564 นี้ และคาดว่าจะเริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 และ 3 ภายในปี 2564
ขณะเดียวกันได้มีการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ที่ประเทศออสเตรเลียแล้ว กับอาสาสมัคร 150 คน แบบขนานกันไป บริษัทฯ ยืนยันว่า มีความพร้อมในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ทั้งชนิดดีเอ็นเอ และเอ็มอาร์เอ็นเอ หากเป็นวัคซีนชนิดดีเอ็นเอ ที่บริษัทศึกษาวิจัยเอง จะสามารถผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรมได้เร็ว
ทั้งนี้ ไทยมีวัคซีนโควิดอีกกว่า 20 ชนิด ที่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาต่อไป
ที่มา : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม