นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคความดันโลหิตสูง ได้ชื่อว่า เป็นเพชฌฆาตแห่งความเงียบ เนื่องจากส่วนใหญ่ มักไม่มีอาการ หรือ อาการแสดงให้เห็น แต่มักตรวจพบโดยบังเอิญ ในกรณีที่มีความดันโลหิตสูงมาก ผู้ป่วยอาจจะมีอาการมึนบริเวณท้ายทอย วิงเวียนศีรษะ หรือ มีอาการแน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน
ผู้มีความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ที่ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะสำคัญ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว หลอดเลือดแดงแข็ง จอประสาทตาเสื่อม ไตเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างยิ่ง เสี่ยงต่อการเกิดอัมพาต โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ไตวายและโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน
หากมีภาวะความดันโลหิตสูงนานๆ ไม่ได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องเหมาะสม หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น กล้ามเนื้อของหัวใจจะหนาขึ้น หัวใจจะโตขึ้น อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดห้องบนเต้นพริ้ว (Atrial Fibrillation) หรือเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเราควรดูแลตนเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม โดยการใส่ใจ 3 อ. คือ
1. อ.อาหาร กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หรือ DASH Diet (Dietary Approaches to Stop Hypertension Diet) คือ ลดการบริโภคอาหารที่มีเกลือโซเดียม ไขมันอิ่มตัว ไขมันรวมและคอเรสเตอรอลลง และเพิ่มการรับประทานที่มีใยอาหาร โปรตีน แคลเซียม แร่ธาตุต่างๆ อย่างโปแตสเซียม และแมกนีเซียม ได้แก่ ผัก ถั่ว ผลไม้ ธัญพืชที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี (Whole Grains) ปลา ไขมันไม่อิ่มตัว และลดการบริโภคเนื้อแดง งดการรับประทานน้ำหวานและน้ำอัดลม
2. อ.ออกกำลังกาย ลดเวลานั่ง เพิ่มเวลายืน ยืดเวลาเดิน ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ให้หัวใจ ปอด ระบบหมุนเวียนโลหิตแข็งแรง ควบคุมน้ำหนักตัว และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้ง/สัปดาห์
3. อ.อารมณ์ ทำอารมณ์ให้แจ่มใส ไม่เครียด นอกจากนี้ควรงดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ฉะนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใส่ใจสุขภาพ รู้จักออกกำลังกายให้เหมาะสม รู้จักเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดี เป็นหนทางสู่การมีสุขภาพดี ย่อมช่วยให้ตัวเราห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน