ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน กล่าวถึงความคืบหน้าการกระจายชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) แบบ Self-test จำนวน 8.5 ล้านชุด สำหรับให้ประชาชนนำไปตรวจด้วยตัวเองที่บ้านว่า ในส่วนของช่องทางการกระจายผ่านร้านยานั้น จากการพูดคุยเบื้องต้นกับ สปสช. คือ
จะให้ผู้ประสงค์จะรับชุดตรวจ ATK ลงทะเบียนและทำแบบประเมินความเสี่ยงผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สามารถเลือกร้านยาที่จะเข้าไปรับชุดตรวจได้ รวมทั้งอาจ Walk in มาที่ร้านยา ให้ร้านยาประเมินความเสี่ยง บันทึกข้อมูลเข้ามาในแอปฯ “เป๋าตัง” เช่นกัน
ซึ่งปัจจุบัน สปสช.มีร้านยา ที่ลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ ประมาณ 1,000 ร้านทั่วประเทศ อยู่ใน กทม.ประมาณ 300 ร้าน คนที่ได้รับ ATK จะได้ไปคนละ 2 ชุด สำหรับตรวจครั้งแรกและตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อผ่านไป 5 วัน
ส่วนคนที่จะรับชุดตรวจนั้นจะต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีคนในที่ทำงานติดเชื้อ แต่ตัวเองยังมีอาการปกติไม่แน่ใจว่าจะได้รับเชื้อด้วยหรือไม่ แบบนี้ก็เข้าข่ายสามารถมารับ ATK ได้
ทั้งนี้ เมื่อทราบผลตรวจแล้ว ผู้ทำการตรวจต้องส่งรูปหรือโทรกลับมาแจ้งที่ร้านยาเพื่อรับคำแนะนำในการแปลผลการตรวจ ในกรณีที่ผลเป็นลบ เภสัชกรจะแนะนำให้กักตัวอยู่บ้านให้ครบ 14 วัน
แต่ถ้าผลเป็นบวกก็จะแนะนำให้เข้าระบบการดูแลที่บ้านแบบ Home Isolation และถ้ามีอาการมาก ก็มีการพูดคุยกันว่าจะให้ร้านยาส่งยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้าน อย่างไรก็ดี เรื่องการส่งยาฟาวิพิราเวียร์ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง
ด้าน นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK จะแจกสำหรับให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น มีคนในบ้านเป็น อยู่ในชุมชนแออัด มีการสัมผัสอยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อ อยู่ในพื้นที่ระบาด กลุ่มที่ให้บริการผู้อื่น เช่น แม่ค้าในตลาด เป็นต้น โดยคาดว่าจะสามารถกระจายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้
ทั้งนี้ ในพื้นที่ กทม. ได้เตรียมไว้ 2 ล้านชุด สำหรับชุมชน 2,000 กว่าชุมชน โดยกระจายให้ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. แล้วกระจายต่อให้อาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสส.เอาไปกระจายในชุมชน แต่คนที่รับต้องพิสูจน์ตัวตนผ่านแอปฯเป๋าตังและทำแบบประเมินว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจริงหรือไม่
ขณะที่อีกส่วน ส่งไปตามต่างจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดสีแดง ผ่านหน่วยบริการ เช่น โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากนั้นหน่วยบริการกระจายผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือให้ประชาชนมารับที่หน่วยบริการก็ได้ แต่ต้องประเมินว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงก่อนรับชุดตรวจ ATK ด้วยเช่นกัน
ส่วนที่ 3 กระจายผ่านร้านยาและคลินิกในเครือข่าย สปสช. ประมาณ 1,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งอาจให้ผู้รับมารับชุดตรวจที่ร้านยาและลงทะเบียนผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” โดยให้ร้านยาติดตามผลการคัดกรองให้