น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้ผลักดันหลายโครงการที่เป็นการจ้างงาน เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบยังมีรายได้ หนึ่งในนั้น คือ “โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ” (Tambon Smart Team) โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ซึ่งเป็นการจ้างงาน เพื่อจัดเก็บข้อมูลและบันทึกข้อมูลในระดับตำบลในทุกมิติทั้ง 12 ด้าน เพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลและสร้างแพลตฟอร์มให้หลายภาคส่วน สามารถเข้ามาดูข้อมูลแต่ละพื้นที่ เช่น แต่ละตำบล มีพืชเศรษฐกิจอะไรบ้าง มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจยังไงบ้าง จะมีการประมวลผลทุกเดือน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว มีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 – 30 ก.ย. 2564 โดยได้จ้างงานประชาชนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือ เทียบเท่า จำนวน 7,255 ตำบล ตำบลละ 2 อัตรา รวม 14,510 อัตรา (ครอบคลุม 878 อำเภอ ในพื้นที่ 76 จังหวัด) อัตราจ้างเหมา 15,000 บาทต่อเดือน
โดยใช้จ่ายงบประมาณจาก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 อยู่ภายใต้แผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน งบประมาณ 2,701.87 ล้านบาท
มาตรการดังกล่าวได้ช่วยบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนที่หางานทำได้ยาก ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด รวมถึงเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนผ่านมาตรการการจ้างงาน ผู้ร่วมโครงการเกิดสร้างทักษะ ประสบการณ์การทำงาน ที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในชีวิต
ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย จึงได้พิจารณาต่อโครงการฯ จากที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2564 นี้ ออกไปอีก เพื่อให้ประชาชนยังมีงานทำ และสานต่อการจัดทำฐานข้อมูลระดับตำบลให้เสร็จสมบูรณ์ เป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 ต่อไป
ส่วนความคืบหน้าขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอเรื่องการต่ออายุโครงการฯ ไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยสภาพัฒน์อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเร็วๆนี้ คาดว่าจะได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป