ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 33) ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อควบคุมสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้อยู่ในวงจำกัด จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
ดังนั้น การให้บริการระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จึงมีความจำเป็นในการจัดบริการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะให้สอดคล้องตามประกาศ ศบค. โดยจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนที่นั่งและที่ยืน
รวมทั้งจัดให้มีการเว้นระยะห่างและการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข การให้บริการเดินทางข้ามจังหวัด และการขนส่งสาธารณะให้คงมาตรการเดิมต่อไป โดยงดให้บริการ ตั้งแต่เวลา 21.00 น. – 04.00 น. จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 หรือ จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
“ส่วนการให้บริการของรถโดยสารประจำทาง ในเส้นทางหมวด 1 หมวด 4 และรถโดยสารไม่ประจำทางในเขตจังหวัดอื่น นอกจากกรุงเทพมหานคร ให้เป็นไปตามคำสั่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด”
สำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้า สามารถขนส่งสินค้าได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยงดการขนส่งสินค้าระหว่างเวลา 21.00 น. – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 หรือ จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
โดยต้องจัดเตรียมใบอนุญาตขับรถ บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวพนักงาน หรือ หนังสือรับรองการทำงาน และเอกสารรับรองความจำเป็นเกี่ยวกับสินค้า และการเดินทางของผู้ขนส่งสินค้าเพื่อใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ การให้บริการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุก ผู้ประกอบการยังต้องดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุข D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้รับบริการมีความปลอดภัยในการใช้บริการ อาทิ
การตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารและผู้ขับรถ การสวมหน้ากากอนามัยระหว่างการเดินทางต้องมีการระบายอากาศภายในรถโดยสารปรับอากาศ รถตู้โดยสารปรับอากาศ และมีการแวะพักทุก 2 – 3 ชั่วโมง เพื่อระบายอากาศภายในรถ และทำความสะอาดภายในตัวรถและพื้นผิวสัมผัสภายในรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น