นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนตุลาคม 2564 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่
ข้าวเปลือกหอมมะลิ
ราคาอยู่ที่ 10,035 – 10,090 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.45 – 3.01 เนื่องจากมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ อาทิ มาตรการเปิดห้างสรรพสินค้าและร้านอาหาร ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ส่งผลให้มีความต้องการใช้ข้าวหอมมะลิของร้านอาหารเพิ่มขึ้น
น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก
ราคาอยู่ที่ 19.31 – 19.49 เซนต์/ปอนด์ (13.98 – 14.11 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.70 – 1.60 จากราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ซึ่งส่งผลดีต่อราคาเอทานอลและกระตุ้นให้โรงงานน้ำตาลในประเทศบราซิลนำอ้อยไปผลิตเอทานอลและลดการผลิตน้ำตาลลง
ประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้งและอุณหภูมิที่สูงขึ้นในประเทศบราซิลส่งผลให้ผลผลิตอ้อยลดลง และปัญหาการส่งออกน้ำตาลของประเทศอินเดียที่ยังไม่มีความแน่นอนในเรื่องคำตัดสินของ WTO ที่อาจจะพิจารณาตัดสินเอาผิดกับประเทศอินเดียในเรื่องนโยบายอุดหนุนการส่งออกน้ำตาล โดยจะกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลของประเทศอินเดีย ทำให้ผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกลดลง
มันสำปะหลัง
ราคาอยู่ที่ 2.13 – 2.18 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.47 – 2.83 เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิตมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2564/65 ผลผลิตออกสู่ตลาดยังไม่มาก และไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ โดยผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในเดือนตุลาคม 2564 ส่วนใหญ่จะถูกส่งเข้าสู่โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง
ปาล์มน้ำมัน
ราคาอยู่ที่ 7.46 – 7.58 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.81 – 5.44 เนื่องจากสต็อกน้ำมันจากพืชทั่วโลกลดลงจากการเกิดคลื่นความร้อนและการระบาดของแมลงศัตรูพืชในประเทศผู้ผลิตสำคัญ ประกอบกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับสองของโลกประสบปัญหาข้อจำกัดการเดินทางของกำลังแรงงานต่างชาติจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต
กุ้งขาวแวนนาไม
ราคาอยู่ที่ 124.77 – 126.08 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.40 – 2.50 เนื่องจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนตุลาคม 2564 ทำให้ร้านอาหารกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประชาชนจึงมีความมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยวและการรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งเป็นแรงหนุนให้ความต้องการบริโภคกุ้งเพิ่มขึ้น และคาดว่าการส่งออกกุ้งในเดือนตุลาคมอาจจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ราคาส่งออกกุ้งไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม 2564 เป็นช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยกดดันราคากุ้งให้ปรับตัวลดลง
โคเนื้อ
ราคาอยู่ที่ 95.50 – 96.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.40 – 0.93 จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ที่ขยายให้กิจการสามารถเปิดบริการเพิ่มขึ้น คาดว่าจะช่วยเพิ่มความต้องการบริโภคเนื้อโค อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนตุลาคมเป็นช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ อาจทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อโคลดลง และกระทบต่อราคาขายโคเนื้อมีชีวิตของเกษตรกรได้
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15%
ราคาอยู่ที่ 7,350 – 7,430 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.10 – 1.17 เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงจากราคาข้าวของประเทศเวียดนามในตลาดโลกที่ปรับลดลง เพราะผลจากการบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด ทำให้ขาดแคลนแรงงานในกิจกรรมการผลิตข้าว
ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว
ราคาอยู่ที่ 8,010 – 8,204 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.71 – 3.07 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนสะสมที่เพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของพายุโกนเซิน ที่พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวเหนียวที่สำคัญ ส่งผลให้ผลผลิตข้าวเหนียวนาปีเพิ่มขึ้น
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5%
ราคาอยู่ที่ 7.95 – 8.08 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.60 – 2.20 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ขณะที่คาดว่าผู้ประกอบการจะนำเข้าวัตถุดิบอื่นทดแทนมากขึ้นจากสัญญาส่งมอบข้าวโพด ข้าวสาลี และถั่วเหลืองในเดือนธันวาคม 2564 ที่ปรับลดลงร้อยละ 1.04 ร้อยละ 1.13 และร้อยละ 1.67 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการยังแข่งขันด้านราคารับซื้อเพื่อจูงใจให้เกษตรกรลงทะเบียนขายผลผลิตให้กับบริษัทตน จะส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้
ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3
ราคาอยู่ที่ 48.00 – 48.50 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.06 – 1.19 เนื่องจากปัจจัยหลักจากความไม่แน่นอนในสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ส่งผลต่อความต้องการนำเข้ายางพาราจากไทยลดลง ถึงแม้ว่าราคายางพาราไทยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และปริมาณยางพาราออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับทางตอนใต้ของประเทศไทยยังมีฝนตกชุกและขาดแคลนแรงงานกรีดยางก็ตาม
สุกร
ราคาอยู่ที่ 64.73 – 66.11บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.37 – 3.43 เนื่องจากการเข้าสู่เทศกาลกินเจที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 14 ตุลาคม 2564 ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งงดบริโภคเนื้อสัตว์ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง