โรงเรียนบ้านอีเซ (คุรุราษฎร์วิทยา) จังหวัดศรีสะเกษ เขต 2 ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยเฉพาะไม้มะดัน ที่ช่วงหนึ่งกำลังจะหมดไปจากท้องถิ่น ทางชุมชนและผู้ปกครอง จึงเห็นว่าจะให้มะดันอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างไร จึงพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นการอนุรักษ์และพัฒนาเทคโนโลยีทางชีวภาพจาก “มะดันป่า”
ที่นำความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาร่วมจัดการเรียนรู้สู่ลูกหลานโดยเฉพาะการศึกษาสีของเปลือกมะดันป่าพบว่า เปลือก มะดันป่าจะให้ในแต่ละฤดูกาลที่แตกต่างกันออกไป เช่น ฤดูหนาวและฤดูฝน เปลือกจะให้สีน้ำตาลอ่อน แต่ถ้าฤดูร้อนจะให้สีน้ำตาลแดงที่ดูสดสวยกว่า
ผ้าที่นำมาย้อมสีมะดัน เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผลิตภัณฑ์ที่ได้ เช่น ผ้าคลุมไหล่ สไบ เสื้อ ผ้าคล้องคอ กระเป๋า ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ เด็ก ๆ นักเรียนในนามกลุ่มเยาวชนคนรักษ์ป่าโนนใหญ่ ได้ใช้เวลาว่างในการสร้างผลิตภัณฑ์ ย้อมสีจากเปลือกมะดันป่า เป็นการสร้างรายได้ระหว่างเรียนไปด้วย
นอกจากนี้ ชาวบ้านหนองฮู ยังเรียนรู้การเก็บเอาเปลือกมะดันป่าว่า ต้องเก็บเกี่ยวต้น หรือ กิ่งไม่เล็กและใหญ่เกินไป และต้องตัดกิ่งมะดันเฉพาะในเวลากลางวันที่มีแดดจัดเท่านั้น ถึงจะทำให้การสกัดสีออกมาได้ดี
ทั้งนี้ คนในท้องถิ่นตำบลอีเซ ยังได้อนุรักษ์พื้นที่ป่ามะดันตามริมห้วยทับทัน ให้ได้ช่วยลดแรงต้านทานของกระแสน้ำไม่ให้ไหลเชียวและการอนุรักษ์ป่ามะดันยังเป็นการอนุรักษ์และให้ที่อยู่อนุบาลสัตว์น้ำตัวเล็ก ๆ ได้มาอาศัย อีกวิธีหนึ่งด้วย
สำหรับ “มะดันป่า” เป็นพืชท้องถิ่นพบอยู่มากมาย บริเวณริมห้วยทับทัน โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านหนองฮู ต.อีเซ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ มะดันป่าเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ชนิดเดียวกับพวกมังคุด ส่วนต่าง ๆ ของมะดันไปใช้สารพัดประโยชน์ บางคนนิยมปลูกมะดันตามคันนา เป็นการช่วยลดการไหลเชี่ยวของกระแสน้ำ และให้รากมะดันช่วยยึดดินคันนาไว้ด้วย
นอกจากนี้ ยังพบว่า ชาวบ้านมีการนำส่วนต่าง ๆ ของมะดันไปใช้ประกอบอาหารด้วย ซึ่งชาวอำเภอห้วยทับทันนิยมนำไม้มะดันป่าไปย่างไก่ขายสร้างอาชีพ มีรายได้หมุนเวียนวันละหลายแสนบาท สนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมมะดัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ 081-389-1157