นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ หลังมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 โดยให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องช่วยสนับสนุน ซึ่งอำนาจการสร้าง คือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะคัดเลือกสถานที่ให้ และกรมราชทัณฑ์จะจัดสรรแรงงานเข้าไปทำงานในนิคมฯ และปลัดกระทรวงยุติธรรม จะจัดตั้งหน่วยงานบริหารเพื่อคอยอำนวยการให้ผู้พักโทษที่ติดกำไล EM เข้าไปทำงานให้กับบริษัทในนิคมฯ และอาจจะมีการจัดหาสถานที่ สาธารณูปโภคให้กับแรงงาน ไม่ต้องกลับไปพักในเรือนจำห่างไกล
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการเตรียมพร้อมให้กับคนที่อยู่ในความมืด กลับออกมาสู่ที่สว่างได้ โดยที่สายตาไม่พร่ามัว เป็นการเตรียมให้ผู้ที่เคยทำความผิด กลับตัวเป็นคนดีสู่สังคม โดยเป้าหมายของการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม จะมีตัวเลือก คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี และระยอง ที่เราเล็งเอาไว้ ซึ่งบริษัทเอกชนที่เข้ามาจะอยู่ที่ความต้องการของตลาดในแต่ละพื้นที่ และแต่ละนิคมฯจะมีแรงงานจากราชทัณฑ์รวมประมาณ 16,000 คน
สามารถลดค่าใช้จ่ายในเรือนจำได้ปีละ 336 ล้านบาท ลดค่าก่อสร้างเรือนจำใหม่ได้ถึง 7,500 ล้านบาท และจะมีเงินเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1,927 บาทต่อปี จากรายได้ค่าแรงขั้นต่ำ 330 บาทต่อคน ในช่วงที่รอการจัดตั้งนิคมฯ เราได้ใช้ สมุทรปราการโมเดลทำ MOU กับบริษัทเอกชนไว้พอสมควร หากสถานการณ์โควิดเบาบางลงเราจะเร่งดำเนินการได้มากขึ้น
“ผมต้องขอบคุณท่านนายกฯ ที่มีนโยบายไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และกระทรวงยุติธรรมก็ได้มีแนวทางการทำงานสนับสนุนนโยบายดังกล่าว จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ รวมถึงประชาชนจะเข้าใจมากขึ้น ว่าเราไม่ได้เอาผู้ต้องขังที่เป็นประเภทบัวใต้ตม หรือ คดีร้ายแรงออกไปทำงาน คนเหล่านั้น จะไม่ได้รับการพักโทษ จะมีแต่นักโทษชั้นดี พวกเทวดาตกสวรรค์หรือ ขุนแผนติดคุกเท่านั้น ที่จะได้ไปทำงาน ขอให้ทุกท่านสบายใจได้” นายสมศักดิ์ กล่าว