นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมามีการดำเนินการก่อสร้างอาคาร รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ของประเทศ ประกอบกับสถานการณ์ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจากดินสไลด์พังทลาย ในงานขุด เจาะ ของการก่อสร้าง รวมถึงการทำงานในที่อับอากาศ
กระทรวงแรงงานจึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าไปดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของกิจการประเภทก่อสร้างเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนายจ้าง ในการดำเนินมาตรการเชิงป้องกันโดยนายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2564
หากมีสภาพการทำงานเป็นที่อับอากาศ ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศพ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ออกตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
เพื่อมุ่งหวังให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือควบคุม กำกับดูแลอย่างจริงจัง พร้อมย้ำหากนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือ ทั้งปรับทั้งจำ
ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ขอให้นายจ้าง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสภาพพื้นที่การปฏิบัติของลูกจ้างให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยจากผล กระทบของภัยธรรมชาติในช่วงนี้ พร้อมเน้นย้ำให้นายจ้างปฏิบัติปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับงานก่อสร้าง ดังนี้
1.การเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน นายจ้างต้องจัดให้มีราวกันตกตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานฯ และป้ายเตือนอันตราย รวมถึงสัญญาณแสงสีส้มหรือป้ายสีสะท้อนแสงเตือนอันตรายให้เห็นได้อย่างชัดเจนและเหมาะสม
2.ต้องจัดให้มีแผ่นโลหะหรือวัสดุอื่นที่มีความแข็งแรงเพียงพอปิดคลุมบนบริเวณดังกล่าว และทำราวล้อมกั้นด้วยไม้ โลหะ หรือวัสดุอื่น
3.จัดให้มีปลอกเหล็ก แผ่นเหล็ก ค้ำยัน หรืออุปกรณ์อื่นที่มีความมั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากดินพังทลาย และต้องมีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงโดยวิศวกร
4.การเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู หรือสิ่งอื่นที่ลึกตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มีการคำนวณ ออกแบบ และกำหนดขั้นตอนการดำเนินการโดยวิศวกร รวมทั้งต้องติดตั้งสิ่งป้องกันดินพังทลายไว้ด้วย
5.นายจ้างต้องจัดให้มีการป้องกันดินพังทลายโดยติดตั้งเสาเข็มพืด (Sheet Pile) ในกรณีที่ใช้ปั้นจั่นหรือเครื่องจักรหนักปฏิบัติงาน หรือมีกองวัสดุหรืออุปกรณ์หนักอยู่บริเวณใกล้ปากรู หลุม บ่อ คู หรือพื้นที่อื่นที่มีลักษณะเดียวกัน
6.นายจ้างต้องมิให้ลูกจ้างลงไปทำงานในรู หลุม บ่อ คู หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกันที่มีขนาดกว้างน้อยกว่า 75 เซนติเมตร และมีความลึกตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไปโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ หากสภาพการทำงานเป็นที่อับอากาศต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับที่อับอากาศ ดังนี้
1.จัดให้มีการประเมินสภาพอันตรายในที่อับอากาศ หากพบว่ามีสภาพอันตรายต้องจัดให้มีมาตรการควบคุมสภาพอันตรายเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อลูกจ้าง
2.จัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล อุปกรณ์ช่วยเหลือ และช่วยชีวิตที่เหมาะสมกับลักษณะงานตามมาตรฐานที่กำหนด และให้ลูกจ้างสวมใส่
3.จัดให้มีลูกจ้างซึ่งได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศเป็นผู้ควบคุมงานประจำในบริเวณพื้นที่ทำงานตลอดเวลา
4.ให้มีสิ่งปิดกั้นที่สามารถป้องกันมิให้บุคคลใดเข้าหรือตกลงไปในที่อับอากาศ
ทั้งนี้ กรณีที่ให้ลูกจ้างลงไปทำงาน หากมีพฤติการณ์ที่อาจทำให้เกิดอันตราย นายจ้างต้องสั่งหยุดงานและให้ลูกจ้างออกจากบริเวณนั้นทันที หากนายจ้างและลูกจ้าง มีข้อสงสัยเพิ่มเติม สอบถามรายละเอียดได้ที่ กลุ่มงานมาตรฐานวิศวกรรมความปลอดภัยในการทำงาน กองความปลอดภัยแรงงาน 02-448-9128-39 ต่อ 304-305