นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรและมาตรการคู่ขนานรักษาเสถียรภาพราคา พืช 3 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2564/65 (ปี 3) วงเงินรวม 2.7 หมื่นล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อดูแลเกษตรกรครอบคลุมกว่า 5.66 ล้านครัวเรือน
สำหรับการประกันรายได้เกษตรกร ทั้ง 3 โครงการ ใช้งบประมาณรวม 2.2 หมื่นล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้
1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 วงเงิน 13,604 ล้านบาท ดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวครอบคลุมกว่า 4.68 ล้านคน ประกันรายได้ให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2564 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2564 – 28 กุมภาพันธ์ 2565 สำหรับการชดเชยส่วนต่างนั้น หลักเกณฑ์เหมือนกับปี 2563/64 (ปี 1 และปี 2) โดยชดเชยเป็นจำนวนตันใน 5 ชนิดข้าว ณ ราคาความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ (ข้าวเจ้า ครัวเรือนละ 50 ไร่) แปลงละ 1 ครั้ง ดังนี้
– ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน
– ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคา 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16ตัน
– ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน
– ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน
– ข้าวเปลือกเหนียว ราคา 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
ส่วนมาตรการคู่ขนาน ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ
– โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 วงเงินรวม 26,255 ล้านบาท (สินเชื่อ 20,401 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 5,853 ล้านบาท)
– โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65 วงเงินรวม 15,562 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 562 ล้านบาท)
– โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 วงเงินจ่ายขาด 540 ล้านบาท
นอกจากนี้ ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ตามมติ นบข. เมื่อ 23สิงหาคม 2564 ด้วย
2.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564/65 วงเงิน 1,863 ล้านบาท ดูแลเกษตรกรได้ครอบคลุมกว่า 4.52 แสนราย โดยประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชนิดเมล็ด ณ ความชื้นร้อยละ 14.5 ในราคา 8.5 บาทต่อกิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ และไม่ซ้ำแปลง ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตร ที่แจ้งเพาะปลูกระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2564 – 31 พฤษภาคม 2565 (ยกเว้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แจ้งขึ้นทะเบียนเพาะปลูกเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้)
โดยใช้เงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย และค่าบริหารจัดการให้กับ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 30 เมษายน 2566 สำหรับมาตรการคู่ขนาน 2 โครงการ ประกอบด้วย
– โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2564/65 วงเงินรวม 1,030 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 30 ล้านบาท)
– โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อก ปี 2564/65 วงเงินรวม 1,515 ล้านาท (วงสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 15 ล้านบาท)
3.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 วงเงิน 6,811 ล้านบาท ดูแลเกษตรได้ครอบคลุมกว่า 5.3 แสนครัวเรือน โดยประกันราคาหัวมันสำปะหลังสดเชื้อแป้ง 25% ราคากิโลกรัมละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน และไม่ซ้ำแปลง ซึ่งต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกมันสำปะหลังกับกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 มีนาคม 2565 ใช้เงินทุนจาก ธ.ก.ส. และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย และค่าบริหารจัดการให้กับ ธ.ก.ส.
ทั้งนี้ ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 31 พฤษภาคม 2566 สำหรับผลการดำเนินโครงการในปี 2563/64 ได้จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างทั้งสิ้น 9 งวด โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้ว 436,817 ครัวเรือน รวม 3,057 ล้านบาท สิ้นสุดการจ่ายเงินงวดสุดท้ายพฤศจิกายนนี้
ขณะเดียวกัน ครม.ได้เห็นชอบให้สิทธิเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2562/63 คือ กลุ่มที่แจ้งปลูกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 31 มีนาคม 2563 จำนวน 8.41 หมื่นครัวเรือน ให้ได้สิทธิเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2563/64 เนื่องจากการปลูกมันสำปะหลังจะต้องใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน ทำให้เกษตรกรบางส่วนที่เริ่มปลูกช้าและใช้เวลาปลูกนาน ไม่สามารถรับสิทธิโครงการได้ทัน โดยค่าใช้จ่ายในการชดเชยส่วนต่างกลุ่มดังกล่าวนี้ ยังคงภายใต้กรอบวงเงินโครงการเดิม ตามมติ ครม. (18 ส.ค.2563)
สำหรับมาตรการคู่ขนาน 4 โครงการ ประกอบด้วย
– โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 วงเงินสินเชื่อ 690 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาดชดเชยดอกเบี้ย 41.40 ล้านบาท
– โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2564/65 วงเงิน 500 ล้านบาท
– โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาดชดเชยดอกเบี้ย 225 ล้านบาท
– โครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปมันสาปะหลัง ปี 2564/65 วงเงิน 10 ล้านบาท
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลักการเป็นไปอย่างเดียวกับประกันรายได้ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด แบบปีที่ 1 ปีที่ 2 ทุกประการ โดยปีนี้ถือเป็นปีที่ 3 สำหรับ มันสำปะหลัง และข้าวโพด ขณะนี้ถือว่ามีราคาดี และมีราคาเกินรายได้ที่ประกัน และจะมีมาตรการคู่ขนานที่จะมาช่วยสนับสนุนให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ สามารถรวบรวมข้าว และเก็บสต็อกข้าวไว้ จะได้เงินช่วยเหลือตันละ 1,500 บาทหรือไม่
เพราะฉะนั้นวันนี้ เมื่อที่ประชุมเห็นชอบชัดเจนแล้ว ก็สามารถเก็บรวมรวมข้าวได้และยังไม่จำเป็นต้องนำข้าวออกมาขายในยามที่ราคายังไม่ดี ซึ่งจะช่วยดึงราคาในตลาดให้สูงขึ้นได้ ขณะเดียวกันโรงสีที่ยังไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือดอกเบี้ยร้อยละ 3 หากรับซื้อข้าวเพื่อมาเก็บสต็อกไว้หรือไม่ วันนี้ก็ชัดเจนแล้ว และมีมติแล้ว
เพราะฉะนั้นโรงสีก็จะได้รับความช่วยเหลือเรื่องภาระดอกเบี้ย 3% ทำให้สามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ในราคาที่ดีขึ้น และเก็บสต็อกไว้ได้ ซึ่งก็จะมีส่วนช่วยดึงราคาข้าวในตลาดให้ดีขึ้นจากมติ ครม. วันนี้ ขณะเดียวกันการส่งออกข้าว ก็ถือว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก เพราะอย่างน้อยที่สุดสามารถทำราคาแข่งกับตลาดได้ เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนลง ทำให้สามารถประมูลข้าวได้หลายล็อตในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ดังนั้นการส่งออกในครึ่งปีหลัง ก็จะมีตัวเลขที่น่าจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก และช่วยดึงราคาข้าวให้ดีขึ้นอีกช่วงหนึ่งด้วย