น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่มีการแก้ไขพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) และกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 มีผลให้ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 64 เป็นต้นมา อ่านย้อนหลังที่ https://mekhanews.com/2021/08/30/kratom-plant-has-been-unlocked-what-control-measures-are-there/ และ https://mekhanews.com/2021/08/21/special-report-kratom-plant-unlocked-how-free-can-it-be-grown-and-sold/
ทำให้การครอบครองและการขายใบสดพืชกระท่อม โดยไม่ได้ปรุง หรือ ทำเป็นอาหารสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จนปรากฎว่า ขณะนี้มีการวางขายพืชกระท่อมอย่างแพร่หลาย และมีประชาชนซื้อใบสดพืชกระท่อมไปรับประทานอย่างกว้างขวาง โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีข้อห่วงใย ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการบริโภคด้วย
“แม้กระท่อมเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์และสรรพคุณที่หลากหลาย แต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้บริโภค โดยเฉพาะกรณีว่าร่างกายของคนเราไม่สามารถย่อยก้านและใบกระท่อมได้ การบริโภคก้านใบกระท่อมในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการอุดตันในลำไส้ที่เรียกว่า “ภาวะถุงท่อม” ขอให้ระมัดระวัง สังเกตอาการ หากผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์“
ส่วนกรณีที่จะนำไปปรุงเป็นน้ำต้มกระท่อม ชากระท่อม ขณะนี้ ยังไม่สามารถทำได้อย่างเสรี ยังจัดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ต้องขออนุญาตจาก อย. ตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ขณะที่การนำมาปรุงประกอบอาหารก็ยังไม่สามารถทำได้เสรีเช่นกัน แต่ อย. อยู่ระหว่างจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข
ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2564 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย (ลำดับที่ 52 กระท่อม) เพื่อให้การใช้ส่วนของพืชกระท่อมและสารสกัด สามารถเป็นส่วนประกอบในอาหารได้ เมื่อมีผลบังคับใช้ จะได้ประกาศให้ประชาชนทราบต่อไป
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค อย. ยังได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกระท่อมต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยของอาหาร และส่งมอบฉลากให้ อย.ตรวจอนุมัติก่อนนำไปใช้ ตามเงื่อนไขของประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 376) พ.ศ. 2559 เรื่อง อาหารใหม่ (Novel food) ด้วย
ที่มา : เฟซบุ๊ก กวาง ไตรศุลี ไตรสรณกุล