นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง มอบลูกพันธ์ุปลาเกด จำนวน 10,000 ตัว ให้กับเกษตรกร ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เขต 5 (สุราษฎร์ธานี) ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อให้เกษตรกรชุดแรก ได้นำไปทดลองเลี้ยง ในกระชัง หรือ บ่อดิน หลังสามารถเพาะพันธุ์และอนุบาลได้สำเร็จ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เกษตรกรนำไปสร้างรายได้
นายมนัส พรหมพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 ต.หนองไทร อ.พุนพิน เกษตรกรเลี้ยงปลากระชังในคลองพุมดวง บอกว่า ปลาเกด หรือ ที่เรียกปลาเนื้ออ่อน เป็นปลาที่ร้านอาหารมีความต้องการสูง ที่ผ่านมาหาได้จากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว และไม่สามารถหาได้ทั้งปี ทำให้ราคาดี หากเลี้ยงได้เชื่อว่าจะเป็นปลาเศรษฐกิจใหม่ของครอบครัว ซึ่งหากเลี้ยงสำเร็จก็สามารถขยายให้ลูกบ้านเลี้ยงขายส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก
ด้านนายเฉลิมชัย พรหมพันธุ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า สาเหตุที่กรมประมงต้องการผลักดันปลาเกศให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ของภาคใต้ เนื่องจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เขต 5 (สุราษฎร์ธานี) สามารถเพาะพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงได้สำเร็จ ประกอบกับเป็นปลาที่มีราคาแพง แต่ยังไม่มีการเพาะเลี้ยง
ซึ่งมองอนาคตว่าจะเป็นปลาเศรษฐกิจทางเลือกให้เกษตรกรนำไปสร้างรายได้ และส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดไปในตัว เพราะอาหารที่อร่อยเป็นส่วนหนึ่งของการดึงคนมาเที่ยว และหากมีวัตถุดิบที่หลากหลายและเพียงพอ จะสามารถจูงใจให้คนมาเที่ยวได้มากขึ้น และได้ประทานอาหารที่หลากหลายขึ้น
สำหรับปลาเกด หรือ ปลาเนื้ออ่อน ที่นักท่องเที่ยวชอบสั่งรับประทานในร้านอาหารนั้น มีชื่อสามัญว่า ปลาแดง ปลานางแดง ชื่อวิทยาศาสตร์เรียก Whisker Sheatfish จัดอยู่ในครอบครัวปลาเนื้ออ่อน Family Siluridae ขนาดปลาแดงที่พบโดยทั่วไป ยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร
เป็นกลุ่มปลาประเภทกินเนื้อ (carnivorous) พบในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก โดยกรมประมงสามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาแดงได้ครั้งแรกปี 2550 โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดชัยนาท และมีการทดลองเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ระบบน้ำหมุนเวียนให้อาหารสดร่วมกับอาหารเม็ดสำเร็จรูป ในระยะเวลา 4 เดือน สามารถเลี้ยงได้ขนาด 100 กรัม
ทั้งนี้ ในภาคใต้ปลาแดงพบได้ในแม่น้ำตาปี บริเวณพื้นที่บ้านดอน อำเภอพระแสง อำเภอเคียนซา อำเภอบ้านนาสาร อำเภอบ้านนาเดิม และอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี รู้จักกันในชื่อปลาเกด เป็นปลาที่มีรสชาติดี และเป็นที่ต้องการของตลาด ราคาซื้อขาย ปลาแดงขนาด 2 – 3 ตัว/กก. ราคา 350 – 400 บาท นิยมไปทำแกงส้ม ฉูฉี่ ทอด แกงคั่ว และเมนูหลากหลาย
แต่ปัจจุบันมีจำหน่ายน้อย เนื่องจากในธรรมชาติลดจำนวนลงอย่างมาก ในปี 2564 ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดได้เพาะปลาแดงได้จำนวนมาก โดยปล่อยกลับคืนสู่แม่น้ำตาปีบางส่วนไปแล้ว และได้เตรียมตั้งราคาขายลูกพันธุ์ในราคาตัวละ 2 บาท ซึ่งมีลูกพันธุ์ไม่น้อยกว่า 50,000 ตัวแก่เกษตรกรที่สนใจ และหน่วยงานกรมประมงในจังหวัดสุราษฏร์ธานีได้เตรียมผลักดันให้ปลาแดง เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ของภาคใต้ต่อไป