นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ระบุว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีการปรับขึ้นราคา สาเหตุมาจากความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง
ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อเดือน ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ทั้งยังร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ผู้ประกอบการในการดูแลค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง การดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน และให้คงราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ
ซึ่งแม้ว่ากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการแล้วแต่การปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลในประเทศบางประเภทสูงขึ้น จนส่งผลกระทบกับการดำรงชีพของประชาชน
วันนี้ ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบเพิ่มเติมของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นของกระทรวงพลังงาน มีแนวทางดำเนินการในเดือนธันวาคม 2564 – เดือนมีนาคม 2565 คือ ปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจากเดิมมีการผสมอยู่ 3 สัดส่วน คือ ร้อยละ 7 (บี7) , ร้อยละ 10 (บี10) และร้อยละ 20 (บี20) ให้มีสัดส่วนผสมเดียว คือ ร้อยละ 7 (บี7) นอกจากนั้น จะขอให้ผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร
ทั้งนึ้ กรมธุรกิจพลังงานออกประกาศ เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. …. ใหม่ ที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลร้อยละ 7 และให้กองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ให้สอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบฯ โดยยังคอยดูแลราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยในระหว่างนี้จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพประชาชนในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม การปรับลดส่วนผสมน้ำมันเหลือเพียง บี 7 และตรึงค่าการตลาดดังกล่าว จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลจะลดลงลิตรละประมาณ 1 บาท ซึ่งเท่ากับราคาน้ำมันดีเซล จะอยู่ที่ประมาณ 28 บาท โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้ เนื่องจากตามออกประกาศตามกฎหมายเพื่อให้ผู้ค้าลดส่วนผสม โดยจะมีประกาศลงราชกิจจานุเบกษาก่อน
ทั้งนี้ การปรับสูตรครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 28 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระชดเชย 3,886 ล้านบาทต่อเดือน ลดภาระลง 106 ล้านบาทต่อเดือน ปริมาณการใช้บี 100 เหลือประมาณ 4.16 ล้านลิตรต่อเดือน ลดลง 0.34 ล้านลิตรต่อเดือน ปริมาณการใช้ CPO ประมาณ 93,085 ตันต่อเดือน ลดลง 5,777 ตันต่อเดือน และทำให้รายได้ภาษีสรรพสามิต เพิ่มขึ้นประมาณ 77 ล้านบาทต่อเดือน