นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติในหลักการการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี (Medical Treatment Visa) รหัส Non-MT ซึ่งการตรวจลงตราฯ จะมีอายุ 1 ปี มีผู้ติดตามไม่เกิน 3 ราย เมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้ว ไม่สามารถขยายอายุต่อได้ ระยะเวลาพำนักในประเทศไทย ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
หากมีความจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่อง ผู้ป่วยต้องแสดงใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และสถาบันทางการแพทย์ภาครัฐเท่านั้น พร้อมรายงานตัวต่อพนักเจ้างานเจ้าหน้าที่ทุก 90 วัน ทั้งนี้ กำหนดประเภทการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาลประเภทใหม่ให้สอดรับกับระยะเวลาและกระบวนการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลและมีความจำเป็น ต้องเข้ารับการดูแลต่อเนื่อง และผู้ติดตามผู้ป่วย
กลุ่มโรคที่อนุญาตให้เข้ามารับการขอรับการตรวจลงตราฯ เป็นกลุ่มโรค/หัตถการที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ที่มีระยะเวลาการรักษาต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่า 90 วัน อาทิ
- เวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ
- โรคระบบหัวใจหลอดเลือด
- โรคมะเร็ง
- ทันตกรรม
- ศัลยกรรมความงาม เป็นต้น
ผู้ป่วยและผู้ติดตาม จะต้องมีหลักฐานทางการเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายภายในประเทศเป็นเงินสดไม่น้อยกว่ารายละ 800,000 บาท (Bank Statement) และมีการนัดหมายกับสถานพยาบาลล่วงหน้า 30 วัน รวมถึงแสดงหลักฐานประกันภัยกรณีอุบัติเหตุและการช่วยเหลือฉุกเฉินรวมความคุ้มครองโรคโควิด-19 ในประเทศไทย วงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,000,000 บาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการตรวจลงตรา เพื่อรักษาพยาบาลเป็นการเฉพาะ ดังนั้น การกำหนดให้มีการตรวจลงตราประเภทรักษาพยาบาล Medical Treatment Visa รหัส Non-MT เป็นระยะเวลา 1 ปี เข้าออกได้หลายครั้ง (Multiple Entry) เป็นการเฉพาะ
เพื่อเป็นการเพิ่มตัวเลือกในการเดินทางเข้าสู่ประเทศให้แก่ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพและมีกำลังใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนรองรับนโยบายรัฐบาลด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พ.ศ. 2560 – 2569 อีกด้วย