นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามกฎหมายประกันสังคมได้กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป แจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้กับลูกจ้างให้ครบทุกคนและนำส่งเงินสมทบกับสำนักงานประกันสังคม
คำนวณจากฐานค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามความเป็นจริง ซึ่งกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดและต่ำสุด ที่นำมาคำนวณเงินสมทบ คือ สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เงินค่าจ้างขั้นต่ำ คือ ไม่ต่ำกว่า 1,650 บาท ดังนั้น เงินที่นายจ้างต้องจ่ายสำหรับลูกจ้างแต่ละคนในแต่ละเดือน สูงสุด 750 บาท และต่ำสุด 83 บาท
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า นายจ้างบางรายจงใจหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยการส่งเงินสมทบ ซึ่งไม่ได้คำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามความเป็นจริงเข้ากองทุนประกันสังคมให้กับผู้ประกันตน ทำให้ลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เต็มที่ ในกรณีที่มาใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนกับสำนักงานประกันสังคม
ดังนั้น ขอความร่วมมือนายจ้างและ สถานประกอบการต่างๆ ให้แจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้กับลูกจ้างให้ครบทุกคน และนำส่งเงินสมทบให้กับลูกจ้างโดยคำนวณจากฐานค่าจ้างที่ได้รับตามความเป็นจริง
หากนายจ้างนำส่งเงินสมทบไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง จะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีบทลงโทษ คือ
1.จำคุกไม่เกิน 6 เดือน
2.ปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท
3.ทั้งจำทั้งปรับ
ทางสำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการ ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ละเลยการปฏิบัติ โดยจะตรวจสอบและดำเนินการอย่างจริงจัง สำหรับผู้ประกันตนก็เช่นกัน ต้องหมั่นตรวจสอบข้อมูลและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของตนเอง หากประสบปัญหานายจ้างนำส่งเงินสมทบไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ตรวจสอบได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาที่นายจ้างนำส่งเงินสมทบ หรือโทร 1506 ให้บริการ ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง