จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 รอบที่ 1 และมาตรการคู่ขนาน อ่านเพิ่มเติมที่ https://mekhanews.com/2021/10/25/the-cabinet-knocks-income-insurance-rice-cassava-maize-year-3-taking-care-of-farmers-5-66-million-households/
และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 รอบที่ 1 (เพิ่มเติม) และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 อ่านเพิ่มเติมที่ https://mekhanews.com/2021/11/30/the-cabinet-approved-an-increase-of-70-billion-baht-to-guarantee-rice-income-for-the-year-2064-65-baac-ready-to-pay/
ล่าสุด วันนี้ (9 ธ.ค. 64) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินประกันรายได้ข้าว เข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง เฉพาะเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ จำนวนประมาณ 7.7 แสนราย ส่วนเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเริ่มโอนในวันที่ 10 ธันวาคม 2564 ประมาณ 7.5 แสนราย จากนั้นจะทยอยจ่ายตามรอบการผลิตที่แจ้งถึง 13 ธันวาคม 2564
ส่วนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 จะเริ่มจ่ายในวันที่ 13 – 17 ธันวาคม 2564 เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง กรณีที่สมัครใช้บริการ BAAC Connect จะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันที่สำคัญสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยดำเนินการมาแล้ว 2 ปี ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ 3 โดยรัฐบาลได้ค้างจ่ายเงินส่วนต่าง ที่จะต้องจ่ายให้กับเกษตรกร เพื่อชดเชยกับราคาตลาดที่ไม่ถึงรายได้ที่ประกัน 5 งวด
สำหรับข้าว ปีที่ 3 เงินที่เกษตรกรจะได้รับ มี 3 ก้อน ดังนี้
1.เงินส่วนต่าง
– งวดที่ 1-2 กับงวดที่ 3 บางส่วน ได้จ่ายให้กับเกษตรกรไปแล้ววงเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท
– ส่วนงวดที่ 3 ที่เหลือ จะมาจ่ายให้ครบโดยเริ่มจ่ายวันนี้ (9 ธ.ค. 2564) โดยจ่ายงวดที่ค้างอยู่ 5 งวดพร้อมกัน คือ งวดที่ 3 บางส่วนและงวด 4-7 รวมเป็นเงิน 64,847 ล้านบาท
– ส่วนงวดที่ 8 จะจ่ายวันที่ 14 ธ.ค.เป็นเงิน 3,720 ล้านบาท
– งวดที่ 9-33 จะทยอยจ่ายทุก 7 วันจนครบ โดยงวดสุดท้าย วันที่ 27 พ.ค. 2565
เกษตรกรครัวเรือนที่ได้รับเงินส่วนต่างสูงสุด ดังนี้
1.1 ผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ สูงสุด 58,988 บาท
1.2 ข้าวหอมนอกพื้นที่สูงสุด 60,086 บาท
1.3 ข้าวหอมปทุม สูงสุด 36,358 บาท
1.4 ข้าวเปลือกจ้าว สูงสุด 67,603 บาท
1.5 ข้าวเหนียว 71,465 บาท
2.เงินในมาตรการคู่ขนาน ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมโครงการ เช่น
– เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางเป็นเวลา 5 เดือนเพื่อไม่ให้ข้าวออกสู่ตลาดมากจนเกินไป ช่วยตันละ 1,500 บาท สหกรณ์เก็บไว้จะช่วยตันละ 1,500 บาท
– ช่วยเหลือดอกเบี้ย ถ้าสหกรณ์เก็บข้าว 12 เดือน ช่วยดอกเบี้ย 3% ถ้าโรงสี เก็บข้าว 6 เดือน จะช่วยดอกเบี้ย 3% เพื่อไม่ให้ข้าวออกสู่ตลาดมากเกินไปและไปกดราคาข้าวในตลาด
3.ค่าบริหารจัดการ หรือ ปรับปรุงคุณภาพข้าว
ได้ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท โดยจ่ายวันที่ 13 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป เป็นเงิน 53,871 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.7 ล้านครัวเรือน
ขณะชาวนาที่น้ำท่วมเสียหาย จะได้เงินอีกก้อนหนึ่ง คือ เงินชดเชยความเสียหายจากอุทกภัยหรือภัยธรรมชาติ โดยชาวนาที่ปลูกข้าวแล้วน้ำท่วม จะยังได้รับเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว เพราะขอให้ปลูกจริง ไปขึ้นทะเบียนแม้พืชผลจะเสียหายเพราะภัยธรรมชาติจะยังได้รับเงินช่วยเหลือส่วนต่างเช่นกัน
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบสถานะการโอนเงินได้ที่ https://chongkho.inbaac.com/ ตลอด 24 ชั่วโมง