นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น หรือ เข็ม 3 เบื้องต้น มีคำแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ประกอบด้วย
1.กรณีฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม (ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม) ให้ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ได้ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังเข็ม 2
2.กรณีแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ให้ฉีดไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา 3 เดือนขึ้นไปหลังเข็ม 2
3.กรณีฉีด mRNA 2 เข็ม (ไฟเซอร์/โมเดอร์นา) ให้ฉีดวัคซีน mRNA ตัวเดียวกัน 6 เดือนขึ้นไปหลังเข็ม 2
4.กรณีสูตรไขว้ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ให้ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา 3 เดือนหลังจากเข็ม 2
5.กรณีสูตรไขว้ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม ตามด้วยไฟเซอร์ ให้ฉีดไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา 3 เดือนขึ้นไปหลังเข็ม 2
6.กรณีสูตรไขว้แอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยไฟเซอร์/โมเดอร์นา ให้กระตุ้นด้วยไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา 6 เดือนขึ้นไปหลังเข็ม 2
ส่วนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด เดือนมกราคม 2565 ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กำหนดไว้ ดังนี้
1.ผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน กรณีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใช้สูตรแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม หรือ สูตรแอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ หรือ สูตรซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า
2.กลุ่มอายุ 12-17 ปี ใช้สูตรไฟเซอร์ 2 เข็ม
3.ผู้มารับวัคซีนเข็มที่ 2 ให้เป็นไปตามกำหนดที่นัดหมาย
4.ผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
4.1 กรณีฉีดซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า เมื่อเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 พิจารณาฉีดเข็มกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า
4.2 กรณีฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มช่วง สิงหาคม-ตุลาคม 2564 พิจารณาฉีดด้วยไฟเซอร์
4.3 ผู้ที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก
4.4.ผู้ที่เคยติดเชื้อและต้องการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น สามารถใช้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้นได้ โดยให้จังหวัดบริหารจัดการตามวัคซีนที่มีในพื้นที่
ส่วนการแจ้งเตือนให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น จะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ โดยจะใช้ระบบ “หมอพร้อม” จึงขอให้ผู้ฉีดวัคซีนแล้วดาวน์โหลดและลงทะเบียนหมอพร้อมไว้ ส่วนผู้ที่เข้าไม่ถึงหมอพร้อม ให้จังหวัดใช้ข้อมูลจาก Moph IC ดำเนินการนัดหมาย โดยหน่วยบริการฉีดวัคซีนต้องออกแบบกระบวนการนัดหมายให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
สำหรับ กทม.มีความซับซ้อนและมีหลายหน่วย ได้ประสานสำนักอนามัย กทม. วิเคราะห์จัดทำแผนเพื่อทำระบบแจ้งเตือน และเชิญชวนประชาชนมาฉีด เบื้องต้น กทม.จัดไว้ 6-7 จุด ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องวอล์กอิน แต่ขอให้รอระบบแจ้งเตือนและนัดหมายก่อน เนื่องจากต้องทราบจำนวนผู้ที่จะฉีดเพื่อกระจายวัคซีนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ขณะที่คนที่ฉีดกระตุ้นเข็ม 4 โดยทิ้งระยะห่างจากเข็ม 3 เพียง 1 เดือน ถือว่าไม่มีประโยชน์ เนื่องจากการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายต้องใช้ระยะเวลาที่เหมาะสม จึงขอให้ฟังคำแนะนำจากคณะกรรมการด้านวิชาการ โดยเดือนมกราคม 2565 คณะกรรมการจะพิจารณาการฉีดเข็ม 4 และวัคซีนเด็กต่อไป