จากกรณีที่มีการเสนอข่าวของสื่อออนไลน์ จากนักวิจัยเขียนวิเคราะห์ว่า “เตือนกองทุนประกันสังคมจะมีปัญหาความยั่งยืนที่ชัดเจนภายใน 10 ปี หากไม่มีการดำเนินการนโยบายใด ๆ โดยเฉพาะกองทุนชราภาพจะมีปัญหาที่สูงที่สุด และเสนอแนะทางแก้ไขเชิงนโยบายให้สำนักงานประกันสังคมปรับเพิ่มหรือยกเลิกเพดานค่าจ้างสูงสุด ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ รวมทั้งขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น
เรื่องดังกล่าว นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงว่า สำนักงานประกันสังคม ได้เล็งเห็นสภาพปัญหาที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมในอนาคต พร้อมทราบดีถึงสถานการณ์ดังกล่าว และเป็นผู้ประเมินสถานะกองทุนร่วมกับงานวิจัยหลาย ๆ ฉบับที่ข่าวอ้างถึง โดยมีนโยบายปฏิรูปตามข้อเสนอแนะของผู้เขียนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2559
ทั้งนี้ การดำเนินการจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและทำในช่วงสถานะการเศรษฐกิจที่เหมาะสม
อย่างไรก็ดี สำหรับความคืบหน้าในส่วนการแก้ไขกฎหมาย ได้แก่
1.การปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง
ในลำดับแรก สปส.ได้เสนอปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างเป็น 20,000 บาท เพิ่มทั้งความยั่งยืนของกองทุน และสิทธิประโยชน์เงินทดแทนกรณีต่าง ๆ ได้แก่
- กรณีชราภาพ
- ว่างงาน
- คลอดบุตร
- เจ็บป่วย
- ทุพพลภาพ
- เสียชีวิต ให้แก่ผู้ประกันตน
ทั้งนี้ ชะลอการดำเนินการไว้ เนื่องจากสถานการณ์ของ COVID-19
2.การขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญขั้นต่ำ สปส.ได้เสนอให้ปรับแก้ พรบ.ประกันสังคมฉบับที่ 5 ขยายจาก 55 เป็น 60 ปี โดยผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว ซึ่งการดำเนินการจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกันตนปัจจุบัน ที่ใกล้เกษียณไม่ได้รับผลกระทบ
3.กรณีปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ สำนักงานยังไม่ได้เสนอปรับแก้ไขใน พรบ.ประกันสังคมฉบับที่ 5 โดย สปส.เป็นนโยบายที่ควรดำเนินการในระดับประเทศ ผ่านคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ ที่กำลังจะตั้งขึ้น เพื่อให้นโยบายการจัดเก็บเงินสมทบเป็นไปได้อย่างสอดคล้องกันในภาพรวมประเทศ
นายบุญสงค์ กล่าวต่อไปว่า ไม่อยากให้ผู้ประกันตนหวั่นวิตกจนเกินไป เนื่องจาก สปส. มุ่งมั่นปฏิรูปองค์กรและการทำงานตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อไม่ให้ภาระทั้งหมดตกไปถึงมือรุ่นลูกรุ่นหลาน โดยได้กำหนดแผนการสร้างความมั่นคงให้กับกองทุนประกันสังคมไว้ในแผนปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม
โดยกำหนดแนวทางดำเนินการแล้ว เช่น การปรับปรุงเพดานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบมาพิจารณาปรับใช้เป็นระยะ ๆ เพื่อให้กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพมีความยั่งยืนและมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายบำนาญให้ผู้ประกันตนได้ตลอดไป
อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากผู้ประกันตน และนายจ้าง ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วง ดังนั้น ก่อนที่ สปส. จะปรับปรุง การดำเนินการต่าง ๆ ก็จะสอบถามความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วมออมเงินทุกฝ่าย เพื่อให้ช่วงเปลี่ยน ผ่านเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน