นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมส่งมอบของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้ใช้แรงงานอุ่นใจ ในปี 2565 เพื่อให้แรงงานมีหลักประกันการดำรงชีวิตที่มั่นคงทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 โดยปรับลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เหลือร้อยละ 60 เป็นระยะเวลา 6 เดือน (กระทรวงแรงงาน อยู่ระหว่างเสนอต่อที่ประชุม ครม.เพื่อกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน)
ทางเลือกที่ 1 จากอัตราเงินสมทบเดิม 70 บาทต่อเดือน อัตราเงินสมทบใหม่ระยะ 6 เดือน 42 บาทต่อเดือน คุ้มครอง 3 กรณี
1.1 กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้
– ผู้ป่วยใน นอนพักรักษาตัว 1 วันขึ้นไป ได้รับความคุ้มครอง วันละ 300 บาท
– ผู้ป่วยนอก (ไม่นอนโรงพยาบาล) มีใบรับรองแพทย์ให้หยุด 3 วันขึ้นไป ได้รับความคุ้มครอง วันละ 200 บาท
– ผู้ป่วยนอก (ไม่นอนโรงพยาบาล) หยุดไม่เกิน 2 วัน ได้รับความคุ้มครอง ครั้งละ 50 บาท (ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง) รับสิทธิผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกหยุดรวมกันไม่เกิน 30 วัน/ปี
1.2 กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500 – 1,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี (ขึ้นกับระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ)
1.3 กรณีตาย ได้รับเงินค่าทำศพ 25,000 บาท
ทางเลือกที่ 2 จากอัตราเงินสมทบเดิม 100 บาทต่อเดือน อัตราเงินสมทบใหม่ระยะ 6 เดือน 60 บาทต่อเดือนคุ้มครอง 4 กรณี
2.1 กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้
– ผู้ป่วยใน นอนพักรักษาตัว 1 วันขึ้นไป ได้รับความคุ้มครอง วันละ 300 บาท
– ผู้ป่วยนอก (ไม่นอนโรงพยาบาล) มีใบรับรองแพทย์ให้หยุด 3 วันขึ้นไป ได้รับความคุ้มครอง วันละ 200 บาท
– ผู้ป่วยนอก (ไม่นอนโรงพยาบาล) หยุดไม่เกิน 2 วัน ได้รับความคุ้มครอง ครั้งละ 50 บาท (ปีละไม่เกิน 3 ครั้ง) รับสิทธิผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกหยุดรวมกันไม่เกิน 30 วัน/ปี
2.2 กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500 – 1,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี (ขึ้นกับระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ)
2.3 กรณีตาย ได้รับเงินค่าทำศพ 25,000 บาท
2.4 กรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล (จากเงินออมสะสม ตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบ) 50 บาท/เดือน
ทางเลือกที่ 3 จากอัตราเงินสมทบเดิม 300 บาทต่อเดือน อัตราเงินสมทบใหม่ระยะ 6 เดือน 180 บาทต่อเดือนคุ้มครอง 5 กรณี
3.1 กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้
– ผู้ป่วยใน นอนพักรักษาตัว 1 วันขึ้นไป ได้รับความคุ้มครอง วันละ 300 บาท
– ผู้ป่วยนอก (ไม่นอนโรงพยาบาล) มีใบรับรองแพทย์ให้หยุด 3 วันขึ้นไป ได้รับความคุ้มครอง วันละ 200 บาท
– รับสิทธิผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกหยุดรวมกันไม่เกิน 90 วัน/ปี
3.2 กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500 – 1,000 บาท ตลอดชีวิต
3.3 กรณีตาย ได้รับเงินค่าทำศพ 50,000บาท
3.4 กรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล (จากเงินออมสะสม ตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบ) 150 บาท/เดือน
3.5 กรณีสงเคราะห์บุตร ได้รับเงินรายเดือนตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์เดือนละ 200 บาท/คนคราวละไม่เกิน 2 คน
อ่านเพิ่มเติมที่ https://mekhanews.com/2021/12/24/summarize-it-in-detail-what-rights-do-i-get-when-applying-for-social-security-in-m-40/
ทั้งนี้ จะมีผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับประโยชน์จากการลดอัตราเงินสมทบครั้งนี้ จำนวน 10.57 ล้านคน รวมวงเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 1,408.56 ล้านบาท โดยเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ย้ำว่าหากผู้ประกันตนสมัครเข้าระบบประกันสังคมมาตรา 40 แล้ว อย่าลืมจ่ายเงินสมทบให้ต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ข้างต้นอย่างครบถ้วน
พร้อมกันนี้ ในปีหน้า สำนักงานประกันสังคม ยังเตรียมจัดหาของเยี่ยมให้กับผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตรา ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ผู้ทุพพลภาพ ที่รักษาตัว ณ สถานพยาบาล หรือ ออกเยี่ยม ณ บ้านพักของผู้ประกันตนให้มากขึ้นด้วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน ช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อใช้บริการงานประกันสังคม