นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ธันวาคม 2564 เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง- ล้านช้าง ประจำปี 2564 ของ 3 กระทรวง รวม 5 โครงการ วงเงินรวม 1.49 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจภายในเดือนธันวาคม 2564 ระหว่างผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากประเทศจีนภายใต้กองทุนฯ
ตามวัตถุประสงค์การสร้างชุมชนแห่งการแบ่งปัน เพื่อให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงในอนาคตต่อสมาชิกแม่โขง- ล้านช้าง และปฏิบัติตามเจตนารมณ์ในการปรึกษาหารือร่วมกัน ช่วยเหลือกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก ซึ่งประกอบด้วย ลาว กัมพูชา เมียนมา ไทย เวียดนาม และจีน
ส่วนรายละเอียด 5 โครงการ ประกอบด้วย
1.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โครงการมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน วงเงิน 368,300 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 12.40 ล้านบาท) โดยจะดำเนินการ ดังนี้
1.1 ออกแบบมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
1.2 ส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม
1.3 เพิ่มขีดความสามารถให้แก่องค์การจัดการแหล่งท่องเที่ยว ในแต่ละแหล่งท่องเที่ยว
2.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 โครงการ คือ
2.1 โครงการขยายและพัฒนาความร่วมมือการค้าเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ วงเงิน 347,300 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 11.70 ล้านบาท)
2.2 โครงการวิจัยระบบการปลูกพืชยืนต้นที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่สูง วงเงิน 57,600 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.94 ล้านบาท) ดำเนินการศึกษาการปลูกไม้ยืนต้นแบบผสมผสานเพื่อทดแทนการปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว และร่วมหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาเกษตรที่ยั่งยืนระหว่างกลุ่มประเทศแม่น้ำโขง-ล้านช้าง
2.3 การพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง วงเงิน 307,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10.34 ล้านบาท) ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดและสร้างหลักสูตรการฝึกอบรมเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด
3.กระทรวงมหาดไทย โครงการการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วงเงิน 406,700 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 13.70 ล้านบาท) ดำเนินการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างแบบจำลองเกี่ยวกับการขจัดความยากจน และสร้างหมู่บ้านต้นแบบให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง