ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศขยายนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง เข้ารักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 เป็นต้นไป โดยที่หน่วยบริการ จะไม่มีการเรียกให้กลับไปรับใบส่งตัวเหมือนในอดีต อ่านเพิ่มเติมที่ https://mekhanews.com/2021/11/08/nhso-upgrades-gold-patents-inpatients-dont-have-to-go-back-to-pick-up-a-referral-slip/
ซึ่งหลังประกาศนโยบายไปนั้น มีค่า นิวส์ เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่า เราจะใช้สิทธิอย่างไร แล้วหน่วยบริการปฐมภูมิ คือ ที่ไหนบ้าง ดังนั้น จึงขอสรุปขั้นตอนการใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิทั่วประเทศมาฝากค่ะ
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จัก หน่วยบริการปฐมภูมิกันก่อนค่ะ
หน่วยบริการปฐมภูมิ คือ บริการสุขภาพด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งมีบทบาทในการดูแลสุขภาพประชาชนในท้องถิ่น โดยเน้นการป้องกันไม่ให้ป่วย หากเจ็บป่วยจะได้รับการดูแลรักษาเบื้องต้น รวมถึงบริการฟื้นฟูสุขภาพ เช่น สถานีอนามัย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.), หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึงคลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น
ไปดูความแตกต่างของสิทธิเดิม และสิทธิใหม่กันค่ะ
1.สิทธิบัตรทอง 30 บาท ของเดิม
– ประชาชนมีหน่วยบริการประจำ (สถานพยาบาล) ที่ลงทะเบียนไว้
– หากประชาชนไปรักษาที่หน่วยบริการ (สถานพยาบาล) ที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ จะถูกเรียกเก็บเงิน หรือต้องกลับไปรับใบส่งตัว
2.สิทธิบัตรทอง บริการใหม่ เริ่ม 1 มกราคม 2565
– ประชาชนยังคงเข้ารักษาที่หน่วยบริการประจำ (สถานพยาบาล) ที่ลงทะเบียนไว้
– แต่กรณีมีความจำเป็น หรือ เหตุสมควร สามารถเข้ารักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิอื่นได้ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ไม่ถูกเรียกเก็บเงิน เช่น ยาหมด ทำแผลต่อเนื่อง เจ็บ ไข้ ไอ ปวด เป็นต้น
ขั้นตอนการใช้สิทธิ
1.ติดต่อที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่เข้ารับการรักษา
2.แจ้งความจำนงใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพก่อนรับบริการ
3.แสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายที่ทางราชการออกให้ สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี แสดงสำเนาสูติบัตร (ใบเกิด)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรสายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand