มีค่า นิวส์ มีข่าวมาแจ้งผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 ซึ่งตามที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม เตรียมความพร้อม Hospitel ไว้รองรับโควิดสายพันธุ์ โอมิครอน และขอให้ผู้ประกันตนไม่ต้องกังวล ยืนยันจะดูแลแรงงานไทย และแรงงานต่างด้าวอย่างเท่าเทียมกันนั้น
ล่าสุด วันนี้ 7 มกราคม 2565 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านระบบ Zoom ร่วมกับผู้แทนและบุคลากรทางการแพทย์ของสถานพยาบาลประกันสังคม จำนวนกว่า 50 แห่ง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม
นายบุญสงค์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถวอล์กอินเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ทันที แต่หากกรณีที่สถานพยาบาลแห่งนั้น ไม่สามารถให้การรักษาได้ หรือ เกินศักยภาพในการรักษา ทางสำนักงานประกันสังคม จะส่งตัวผู้ประกันตนไปรักษากับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า
กรณีที่ผู้ประกันตนไม่สามารถวอล์กอิน เข้ารักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ สามารถเข้ารักษาได้ในสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่พักอาศัยได้ทันที โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือ จะโทรประสานให้รถพยาบาลไปรับตัวได้เช่นกัน โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1.ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39 ที่ติดเชื้อโควิด-19 โทรเข้าสายด่วน 1506 กด 6 กด 7 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประสานงานรวม 350 คู่สาย ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. หรือ โทรสายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง
2.เจ้าหน้าที่จะประสานรถพยาบาลไปรับตัว ภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อเข้าสู่การรักษาในสถานพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม, Hospitel, Community Isolation, หรือ ให้รักษาตัวที่บ้าน Home Isolation โดยที่ผู้ประกันตนใช้เพียงแค่บัตรประจำตัวประชาชน และผลตรวจ ATK เท่านั้น
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีสถานพยาบาลในระบบประกันสังคม ที่มี Hospitel จำนวนทั้งสิ้น 12,856 เตียง และจำนวนเตียงว่างคงเหลือ 3,230 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2565) อีกทั้งสำนักงานประกันสังคม ได้ทำงานร่วมกับ สปสช. ในการดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีแสดงอาการเล็กน้อย (สีเขียว) และประสงค์เข้ารักษาในระบบ Home Isolation โดยผู้ประกันตนสามารถลงทะเบียนในเว็บไซต์ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทันที อ่านเพิ่มเติมที่ https://mekhanews.com/2022/01/06/how-to-register-for-covid-treatment-at-home-home-isolation/
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Factory Sandbox ในการตรวจ รักษา ควบคุม ดูแลในสถานประกอบการเพื่อการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โดยมุ่งเน้นไปที่โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ คือ
1.ตรวจ : ดำเนินการตรวจคัดกรองด้วย RT – PCR 100% เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันทีและดำเนินการตรวจ Self – ATK ทุกสัปดาห์
2.รักษา : ให้โรงงานจัดให้มีสถานรักษาพยาบาลขึ้นสถานแยกกัก (Factory Isolation : FAI, และ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและห้องผู้ป่วยวิกฤต สำหรับผู้ป่วยสีแดง
3.ดูแล : ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แรงงานโดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง คนท้องออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน
4.ควบคุม : ให้นายจ้างและแรงงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค ในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and seal) และมาตรการด้านสาธารณสุข (DMHTT) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ยังกล่าวถึงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ค่าตรวจคัดกรองโรค COVID-19 กรณีตรวจคัดกรองในรพ. /ตรวจคัดกรองนอก รพ.โดยหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. โดยผู้ประกันตนคนไทยเบิกเงินจาก สปสช. ส่วนผู้ประกันตนคนต่างชาติ แรงงานต่างด้าว เบิกเงินจากสำนักงานประกันสังคม
กรณีตรวจคัดกรองเชิงรุกในสถานประกอบการ ตามโครงการของสำนักงานประกันสังคมโครงการ Factory Sandbox เพื่อค้นหาผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงและมีการแพร่ระบาดและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อ เบิกเงินจากสำนักงานประกันสังคม
สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐบาล แบ่งได้ดังนี้
1.มีอาการเล็กน้อย (สีเขียว)
– ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน
– ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จ่ายตามจริงไม่เกิน 300 บาทต่อวัน
2.มีอาการปานกลาง (สีเหลือง)
– ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 3,000 บาทต่อวัน
– ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาทต่อวัน มีอาการรุนแรง (สีแดง)
– ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 7,500 บาทต่อวัน
– ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาทต่อวัน
3.กรณีมีอาการเล็กน้อย(สีเขียว) ดูแลรักษาโรงพยาบาลสนาม Hospitel Hotel Isolation ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65
– จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาท ต่อวัน ไม่เกิน 10 วัน
– ค่าอุปกรณ์ในการดูแลติดตามสัญญาณชีพ 500 บาทต่อวัน
– ค่าชุด PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 150 บาทต่อราย
4.กรณีดูแลรักษาแบบ Home Isolation และการแยกกักในชุมชน Community Isolation
– ค่าดูแลให้บริการผู้ป่วย สำหรับค่าติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา ค่ายาพื้นฐาน จ่ายแบบเหมาจ่ายไม่รวมค่าอาหาร 3 มื้อในอัตรา 600 บาทต่อวัน/รวมค่าอาหาร 3 มื้อ ในอัตรา 1,000 บาท ต่อวัน ไม่เกิน 10 วัน
5.กรณีรักษาในสถานพยาบาลเอกชน จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ตามราคากลางประกาศกระทรวงสาธารณสุข
6.สำหรับค่ารถรับส่งผู้ป่วย
– กรณีจำเป็นต้องส่งต่อภายในจังหวัดเดียวกัน จ่ายตามจริง ไม่เกิน 500 บาท
– กรณีต่างท้องที่จังหวัดอื่น จ่ายเบื้องต้น 500 บาท และจ่ายเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท
– ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อยานพาหนะ ไม่เกิน 1,400 บาทต่อครั้ง
– ค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสำหรับบุคลากรที่จัดการศพผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 เหมาจ่าย 2,600 บาทต่อราย
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ขอให้พี่น้องลูกจ้าง/ผู้ประกันตนโปรดปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ผู้ที่มีอาการหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อ ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด หากผลตรวจเป็นบวกให้กักตัว และงดการออกจากบ้านโดยเด็ดขาด แจ้งคนใกล้ชิดให้ทราบ แยกตัวเอง เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากตลอดเวลา และรีบเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที ตามขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้น