จากที่รัฐบาลมีคำสั่งปิดสถานบันเทิง ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด จนกระทั่งประกาศเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 64 พร้อมผ่อนคลายให้หลายกิจการเปิดดำเนินการได้ และเปรยว่า จะให้เปิดสถานบันเทิงในวันที่ 1 ธ.ค. 64 ทำให้ผู้ประกอบการสถานบันเทิง และผู้ที่ทำอาชีพกลางคืน ต่างมีความหวัง เตรียมความพร้อม ที่จะกลับเปิดให้บริการ
แต่ต่อมารัฐบาลได้สั่งเลื่อนเปิดสถานบันเทิงออกไปเป็นวันที่ 16 ม.ค. 65 ทำให้ความหวังของกลุ่มคนทำงานกลางคืนพังทลาย บางส่วนท้อแท้ หมดกำลังใจ กลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิด บางคนก็หันไปทำอาชีพอื่น ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยที่ไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ จึงนำไปสู่การเดินหน้าร้องเรียนต่อรัฐบาลหลายครั้ง เพื่อขอให้ช่วยเหลือเยียวยา
จนท้ายที่สุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เชิญตัวแทนสมาคม ชมรม เครือข่ายนักร้อง นักแสดง นักดนตรี และผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ คาราโอเกะ หารือร่วมกันในวันที่ 29 พ.ย. 64 เกิดเป็นโครงการเยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิง ดังนั้น มีค่า นิวส์ จึงขอสรุปรายละเอียดของโครงการนี้มาฝาก เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและเห็นภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น
เงินเยียวยาสถานบันเทิง หรือ โครงการเยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิงและผู้ประกอบการอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ กำหนดแนวทางการช่วยเหลือคน 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 นายจ้าง ให้ลงทะเบียนโครงการ SME (โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน) ต่ออีก 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือนายจ้างกลุ่มนี้ 3 เดือน โดยไม่มีภาษี (3,000 บาท/ราย/เดือน)
กลุ่มที่ 2 ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะให้ประกันสังคมเยียวยาว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ และจ่ายอีก 5,000 บาทจากรัฐบาล
กลุ่มที่ 3 ลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล โดยใช้เงินกู้จากรัฐบาล แต่ต้องให้สมาคม/สมาพันธ์รับรอง (5,000 บาท/ราย/เดือน)
ในส่วนของกลุ่มที่ 2 และ 3 กระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการหารือร่วมกับผู้แทนสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมถ์ หรือ สมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิง เพื่อกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา และเงื่อนไขการรับรองสิทธิ พร้อมทั้งกำหนดวันจ่ายเงินเยียวยา นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี และผ่านความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ภายใต้กรอบวงเงิน 607.15 ล้านบาท เริ่มจ่ายงวดแรก ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา
มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่ทำงานในสถานบันเทิง อาชีพอิสระ ได้แก่
1.นักดนตรี
2.นักร้อง
3.แดนเซอร์
4.ดีเจ
5.ศิลปินตลก
6.ศิลปินลิเก
7.ศิลปินพื้นบ้าน
8.ช่างเสียง
9.ช่างแสง
10.ช่างเวที
11.ช่างภาพนิ่ง
12.ช่างภาพวิดีโอ
13.ช่างเครื่องดนตรี
14.พนักงานขับรถ
15.พ่อครัว แม่ครัว
16.พนักงานเสิร์ฟ
17.พนักงานเชียร์ดื่ม
18.พนักงานประชาสัมพันธ์ (พีอาร์)
19.แคชเชียร์
20.พนักงานรับรถ
21.พนักงานทำความสะอาด
22.พนักงานรักษาความปลอดภัย ฯลฯ ที่ทำงานในสถานบันเทิงต่าง ๆ โดยตรง
23.นักแต่งเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสาน ฯลฯ เป็นต้น
สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการเยียวยาจากมาตรการนี้ นางสาวลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1.เป็นผู้มีสัญชาติไทย
2.เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทำงานในกิจการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ
3.เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้
3.1 ต้องได้รับการรับรองจากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ สมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิง ที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้การรับรองภายในวันที่ 14 มกราคม 2565
3.2 ผู้ที่ยังไม่ได้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ให้รีบสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 พร้อมรีบชำระเงินสมทบให้ทันภายในวันที่ 14 มกราคม 2565 และให้ทางสมาคมฯดังกล่าวข้างต้น รับรองภายในวันที่ 28 มกราคม 2565 อ่านเพิ่มเติม How To กรอกข้อมูลกับสมาคมฯ เพื่อขอให้รับรอง “เงินเยียวยาสถานบันเทิง” https://mekhanews.com/2021/12/29/how-to-fill-out-the-information-with-the-association-to-request-certification-money-to-heal-entertainment-venues/
ส่วนขั้นตอนการจ่ายเงินเยียวยา แบ่งออกเป็น 2 งวด คือ
1.งวดแรก วันที่ 29 ธันวาคม 2564 จะจ่ายให้กับ
– ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่นายจ้างขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อยแล้ว และเข้าไปตรวจสอบสิทธิในเว็บไซต์ https://www.sso.go.th/eform_news/ พบว่าได้สิทธิ ดูวิธีตรวจสอบสิทธิ ได้ที่ https://mekhanews.com/2021/12/27/how-to-check-the-rights-to-cure-entertainment-places/
– ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ได้รับการรับรองจากสมาคมแล้ว และสมาคมได้ส่งเรื่องส่งมาที่สำนักงานประกันสังคมเรียบร้อย
– ผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่ระบุอาชีพไว้แล้วว่าทำงานในกิจการสถานบันเทิง และผู้ประกันตันมาตรา 40 ที่ได้รับการรับรองจากสมาคมข้างต้น และสมาคมได้ส่งเรื่องส่งมาที่สำนักงานประกันสังคมเรียบร้อย
2.งวดสอง ทยอยจ่ายให้ทุกสัปดาห์ จนถึงเดือนมีนาคม 2565 สำหรับ
– ผู้ประกันตนทุกมาตรา ที่ยังไม่ได้เงินในงวดแรก เพราะเกิดจากปัญหาต่าง ๆ อาทิ ไม่ได้ผูกพร้อมเพย์บัตรประชาชน หรือ นายจ้างลงทะเบียนประเภทกิจการไว้ว่า เป็นกิจการสถานบันเทิง แต่ภายหลังได้ดำเนินการแก้ไข จนทันเวลา คือ ก่อนวันที่ 28 มกราคม 2565 ก็จะได้รับเงินตามลำดับ
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน ยังพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระเกี่ยวกับสถานบันเทิงที่มีอายุเกิน 65 ปีบริบูรณ์อีกด้วย โดยได้ร่วมหารือกับกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรมการปกครอง เพื่อหาแนวทางการเร่งให้ความช่วยเหลือต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 7 ม.ค. 65 ได้เลื่อนเปิดสถานบันเทิงออกไปอีกครั้ง จากเดิม คือ วันที่ 16 ม.ค. 65 เนื่องจากการสอบสวนโรคช่วงหลังปีใหม่ พบว่าหลายสถานบันเทิงได้บอกว่าปรับให้เป็นร้านอาหาร และเปิดให้บริการไป แต่มีการจำหน่ายสุรา มีการทำไม่ถูกต้อง และทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อไปหลายแห่งทั่วประเทศ โดยสามารถปรับไปเปิดเป็นร้านอาหารได้ โดยต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.ก่อนวันที่ 15 มกราคม 2565