ถาม : ส่งเงินสมทบประกันสังคมกี่เดือน ถึงจะใช้สิทธิได้ ?
ตอบ : นายชลอ ลิ้มศิริ นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ สำนักงานประกันสังคม แจ้งสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมระยะเวลาเท่าใด จึงจะสามารถใช้สิทธิ 7 กรณีได้
1.กรณีเจ็บป่วย ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนเดือน ที่รับบริการทางการแพทย์
2 กรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบครบ 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร
- มีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย 15,000 บาท และเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย ระยะเวลาหนึ่งเดือนครึ่ง
- หากเป็นผู้ประกันตนชายยื่นเบิก จะได้รับเพียงค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายเท่านั้น
3.กรณีสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 36 เดือน (3 ปี) เบิกได้คราวละไม่เกิน 3 คน ๆ ละ 800 บาทต่อเดือน และบุตรอายุต้องไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์
4.กรณีทุพพลภาพ ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบ 3 เดือนภายใน 15 เดือน โดยจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 เป็นรายเดือนตลอดชีวิต
5.กรณีเสียชีวิต ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ก่อนเดือนถึงแก่ความตาย
- ทายาทได้รับค่าทำศพเหมาจ่าย 50,000 บาท
- เงินบำเหน็จกรณีเสียชีวิต ตามระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ
- เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต ตามระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ
6.กรณีชราภาพ ประโยชน์ทดแทนจะจ่ายเมื่อผู้ประกันตนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือเสียชีวิต หรือ เป็นผู้ทุพพลภาพ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- เงินบำเหน็จชราภาพ เป็นเงินก้อนที่จ่ายครั้งเดียวจบ
- เงินบำนาญชราภาพ เป็นเงินที่จ่ายทุกเดือนตลอดชีวิต
ทั้งนี้ การจะได้รับเงินก้อนหรือเป็นรายเดือนขึ้นอยู่กับระยะเวลาการส่งเงินสมทบ
7.กรณีว่างงาน ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนใช้สิทธิ โดยแบ่งเป็น
- กรณีถูกเลิกจ้างรับ 70% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 200 วัน
- กรณีลาออกรับ 45% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน
ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ https://www.facebook.com/Sumnakkaow.PRD/