นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 มกราคม 2565 อนุมัติร่างกฎหมายการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินเยียวยา เงินช่วยเหลือ เงินสนับสนุน เงินอุดหนุน และประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากโครงการภาครัฐอันเนื่องมาจากการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวม 2 ฉบับ
เพื่อลดภาระภาษีและช่วยเหลือประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับเงินเยียวยาจาก 12 โครงการ ที่ภาครัฐได้จ่ายเงินเยียวยา เงินช่วยเหลือ เงินสนับสนุน เงินอุดหนุน และประโยชน์อื่นใดให้แก่ประชาชนและ ผู้ประกอบการ ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีค่า นิวส์ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.ร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากโครงการของภาครัฐ ได้แก่
1.1 เงินเยียวยาที่ได้รับตามโครงการเยียวยานายจ้างและ ผู้ประกันตน ม.33 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.33 ในกิจการ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
1.2 เงินอุดหนุนที่ได้รับตามโครงการส่งเสริมและรักษาระดับ การจ้างงานในธุรกิจ SMEs ของกรมการจัดหางาน โดยบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องไม่นำรายจ่ายที่จ่ายจากเงินอุดหนุนตาม โครงการดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ที่ได้มีการรับเงินตามโครงการ ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว
2.ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความใน ป. รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ให้เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ได้รับเป็นเงินเยียวยา เงินช่วยเหลือ เงินสนับสนุน เงินอุดหนุน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากโครงการของภาครัฐเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 64 ได้แก่
2.1 เงินได้ที่ได้รับเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว และค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินตามโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
2.2 เงินได้ที่อาสาสมัครสาธารณสุข อาสาสมัคร กทม. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ได้รับเป็นค่าซื้อแพ็คเกจทัวร์จากผู้ประกอบการนำเที่ยว ตามโครงการกำลังใจ
2.3 เงินได้ที่ได้ รับเป็นค่าเดินทางและค่าซื้อแพ็คเกจทัวร์ จากผู้ประกอบการนำเที่ยวในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) ตามโครงการทัวร์เที่ยวไทย
2.4 เงินได้ที่ได้รับสำหรับค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าและค่าซื้อ สินค้าหรือบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3
2.5 เงินได้ที่ได้รับสำหรับค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าและค่าซื้อสินค้า หรือบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 เฉพาะผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษตามโครงการ เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
2.6 เงินได้ที่ได้รับเป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม และค่าซื้อสินค้าอื่น ที่ได้ใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ ตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3
2.7 เงินได้ที่ได้รับในรูปของ e-Voucher เป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม หรือค่าสินค้าหรือบริการตามโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
2.8 เงินได้ที่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐและไม่เป็น ผู้ประกันตนตาม ม.33 แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 33 ได้รับ เป็นค่าครองชีพตามโครงการเราชนะ
2.9 เงินได้ที่ผู้ประกันตนตาม ม.33 แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 33 ได้รับตามโครงการ ม.33 เรารักกัน
อนึ่ง ทั้ง 12 โครงการของภาครัฐ ที่ได้จ่ายเงินเยียวยา เงินช่วยเหลือ เงินสนับสนุน เงินอุดหนุน และประโยชน์อื่นใด อันเนื่องมาจากการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปี 2564 มีดังนี้
1.โครงการกำลังใจ
2.โครงการเราเที่ยวด้วยกัน
3.โครงการคนละครึ่ง
4.โครงการเราชนะ
5.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3
6.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
7.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
8.โครงการ ม.33 เรารักกัน
9.โครงการทัวร์เที่ยวไทย
10.โครงการเยียวยานายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
11.โครงการให้ความช่วยเหลือ บรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ ระบาดของโรคโควิด-19 ของ กระทรวงศึกษาธิการ
12.โครงการส่งเสริม และรักษาระดับการจ้างงาน ในธุรกิจ SMEs ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
นายธนกร กล่าวว่า รายได้ภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาและรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโครงการดังกล่าวไม่อยู่ ในประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ แต่หากไม่ได้กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล จะสามารถจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ประมาณ 31,979.35 ล้านบาท และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจะช่วยเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงภาคธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง