นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือ คณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นกลไกในการกำกับดูแลและบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีค่า นิวส์ สรุปสาระสำคัญได้หลายข้อ อาทิ
1.กำหนดสถานประกอบการที่ต้องดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงนี้ในบัญชีท้าย แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
– สถานประกอบการตามบัญชี 1 เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น
– สถานประกอบการตามบัญชี 2 เช่น อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น
– สถานประกอบการตามบัญชี 3 เช่น โรงรับจำนำ โรงถ่ายทำภาพยนตร์ สนามกีฬา เป็นต้น
2.กำหนดประเภทและระดับของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ดังนี้
2.1 เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน โดยตำแหน่ง มี 2 ระดับ ได้แก่
– ระดับหัวหน้างาน และระดับบริหาร
– เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยหน้าที่เฉพาะ มี 3 ระดับ ได้แก่ ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคชั้นสูง และระดับวิชาชีพ โดยเจ้าหน้าที่แต่ละประเภทและระดับต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
3.นายจ้างของสถานประกอบการ ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น
3.1 สถานประกอบการตามบัญชี 1 ที่มีลูกจ้าง 2 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพอย่างน้อย 1 คน
3.2 สถานประกอบการตามบัญชี 2 ที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 100 คน ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคชั้นสูงอย่างน้อย 1 คน
3.3 สถานประกอบการตามบัญชี 3 ที่มีลูกจ้าง 20 คนขึ้นไป ต้องจัดให้ลูกจ้างระดับหัวหน้างานทุกคนได้รับการฝึกอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน
4.นายจ้างของสถานประกอบการที่มีลูกจ้างจำนวน 50 คนขึ้นไปต้องจัดให้มี คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ โดยมีอำนาจหน้าที่ เช่น
– จัดทำนโยบายด้านความปลอดภัย
– จัดทำแนวทางป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน เป็นต้น
5.นายจ้างของสถานประกอบการตามบัญชี 1 และสถานประกอบการตามบัญชี 2 ที่มีลูกจ้างจานวน 200 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีหน่วยงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
6.นายจ้างต้องนำรายชื่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน และผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไปขึ้นทะเบียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ที่ประชุมให้กระทรวงแรงงาน รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน สภาคณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งประเทศไทย สภาสถาบันการศึกษา และเครือข่ายวิชาชีพอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ไปพิจารณาดำเนินการด้วย โดยในลำดับต่อไป จะส่งร่างกฎกระทรวงให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง