ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่
1.ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคา 7,957 – 8,209 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.45 – 3.64 เนื่องจากอินเดียผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกประสบปัญหาขาดแคลนรถไฟบรรทุกสินค้า ทำให้ไม่สามารถส่งออกข้าวตามคำสั่งซื้อได้ทั้งหมด ประเทศคู่ค้าบางรายจึงเปลี่ยนมาซื้อข้าวจากไทยทดแทน
2.ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคา 11,229 – 11,371 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.00 – 4.30
3.ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคา 8,922 – 9,391 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.69 – 5.99 เนื่องจากภาครัฐดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 เพื่อชะลอการขายข้าวที่ออกสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับเงินบาทยังคงอ่อนค่า จึงทำให้ประเทศคู่ค้ามีความสนใจสั่งซื้อข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น
4.น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคา 19.12 – 19.98 เซนต์/ปอนด์ (13.92 – 14.54 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.16 – 5.71 เนื่องจากทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อราคาเอทานอล และอาจจูงใจให้โรงงานน้ำตาลในบราซิลนำอ้อยไปผลิตเอทานอลมากกว่าน้ำตาลทราย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันราคาน้ำตาลจากปริมาณผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นทั้งจากอินเดียและไทย
5.มันสำปะหลัง ราคา 2.27 – 2.34 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.44 – 3.54 เนื่องจากความต้องการใช้มันสำปะหลังของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
6.สุกร ราคา 99.51 – 101.44 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.57 – 2.52 เนื่องจากปริมาณผลผลิตเนื้อสุกรยังคงอยู่ในระดับต่ำจากปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) ประกอบกับรัฐบาลควบคุมการนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาด ASF อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้ออกคำสั่งห้ามกักตุนหรือฉวยโอกาสขึ้นราคาเนื้อสุกรจะถูกดำเนินคดีขั้นสูงสุด
7.กุ้งขาวแวนนาไม ราคา 178.78 – 185.12 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.44 – 4.01 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในแบบ Test & Go อีกครั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ความต้องการบริโภคกุ้งเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตกุ้งลดลงจากปัญหาต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรลดปริมาณการเลี้ยงกุ้ง
8.โคเนื้อ ราคา 99.20 – 101.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.05 – 1.86 เนื่องจากปัญหาเนื้อสุกรราคาสูง และยังไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น ทำให้ราคาเนื้อประเภทอื่นที่เป็นสินค้าบริโภคทดแทนเนื้อสุกรมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อโคปรับตัวสูงขึ้น
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่
1.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคา 8.72 – 8.77 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.11 – 0.68 เนื่องจากสัญญาราคาส่งมอบข้าวสาลีปรับลดลงจากการขายออกทำกำไร จึงคาดว่าผู้ประกอบการจะนำเข้าข้าวสาลีเพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ราคาสูง ส่งผลให้ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศลดลง
2.ปาล์มน้ำมัน ราคา 8.64 – 9.03 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 13.50 – 17.27 เนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ ผลผลิตปาล์มน้ำมันรอบใหม่เริ่มทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลตรึงราคาน้ำมันปาล์มเพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวด เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งผู้ประกอบการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
3.ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคา 50.19 – 51.31 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.83 – 3.98 เนื่องจากราคายางพาราล่วงหน้าตลาดโตเกียวมีแนวโน้มลดลง(ราคายางพาราล่วงหน้าตลาดโตเกียวส่วนหนึ่งถูกใช้เพื่อการเก็งกำไร) จากการที่นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ราคายางพารายังเคลื่อนไหวลดลงไม่มาก จากราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของโลกจะกลับมาสู่ระดับใกล้เคียงหรือมากกว่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19