นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG Model) พ.ศ. 2564 – 2570 ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (พ.ศ. 2565-2570) กรอบวงเงินงบฯ รวม 40,972.60 ล้านบาท มีค่า นิวส์ จึงสรุปรายละเอียดมาฝากทุกคน
ร่างแผนฯ ดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี รักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ให้มีคุณภาพที่ดี ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ การอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ และวัฒนธรรม การสร้างคุณค่า (Value Chain) จากทรัพยากรชีวภาพ และวัฒนธรรม และการสร้างความสามารถในการพึ่งตนเอง
สำหรับ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1.ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ มีตัวชี้วัด อาทิ
1.1 คลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมดิจิทัล
1.2 เทคนิคและนวัตกรรม ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพสิ่งแวดล้อม ในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีโครงการ อาทิ
– โครงการคลังข้อมูลดิจิทัลความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมโดยบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน BCG ให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ
– โครงการ Thailand Biodiversity Genome Project
– โครงการการจัดทำแผนที่ใต้สมุทร และฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพทางทะเลและชายฝั่งทะเลไทย กรอบวงเงิน 2,290 ล้านบาท
2.ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีตัวชี้วัด อาทิ
2.1 อัตราการขยายตัวของ GDP ของภูมิภาคเติบโตเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จากปีพ.ศ. 2565
2.2 ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ลดลงไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน กรอบวงเงิน 1,820 ล้านบาท สำหรับ 4 โครงการ เช่น
– โครงการพัฒนาการเกษตรเศรษฐกิจจากจุลินทรีย์และเห็ดรา เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG Model
– โครงการการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จากความหลากหลายทางชีวภาพสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน โครงการยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และมาตรฐานของอาหาร ท้องถิ่น (Street Food/วิสาหกิจชุมชน)
– โครงการพลังงานชุมชน
3.ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (ประกอบด้วย 5 สาขา ได้แก่ สาขาการเกษตร และอาหาร สาขาการแพทย์และสุขภาพ สาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ สาขาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน) กรอบวงเงิน 33,301 ล้านบาท โดยมีตัวชี้วัดสำคัญ เช่น
3.1 เพิ่ม GDP สาขาเกษตร 3 แสนล้านบาท รายได้ครัวเรือนเกษตรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 100,000 บาท/ ครัวเรือน/ปี เพิ่ม GDP สาขายาและวัคซีน เป็น 9 หมื่นล้านบาท สาขาเครื่องมือแพทย์สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม 100,000 ล้านบาท เพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ให้ประชาชน ในภูมิภาคและชนบท 1 ล้านคน
3.2 เพิ่มอันดับการจัดอันดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Global Wellness Travel Ranking) เป็น Top 5 ภายในปี พ.ศ. 2570 การปล่อย ก๊าซเรือนกระจกลดลงไม่น้อยกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2570 โดยมีตัวอย่างโครงการที่สำคัญ รวม 15 โครงการ ได้แก่
– โครงการการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตรแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area Based)
– โครงการการใช้ประโยชน์จากคลังข้อมูลขนาดใหญ่ภาคการเกษตร เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพ การผลิต และจัดสมดุลการผลิต – การตลาด
– โครงการรับรองมาตรฐานสินค้าปลอดภัยเชื่อมสินค้าเกษตรปลอดภัย สู่อุตสาหกรรมอาหาร
– โครงการพัฒนากลไกบริหารจัดการและมาตรการ เพื่อลดการสูญเสียอาหาร (food loss) และขยะอาหาร (food waste)
– โครงการยกระดับแพลตฟอร์มการผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรม ครบวงจร
– โครงการการผลิตยาต้านไวรัสรองรับการระบาดใหญ่ และสร้างศักยภาพการผลิตยาภายในประเทศ
– โครงการยกระดับ การแพทย์จีโนมิกส์เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการบริการ
– โครงการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาด้านนวัตกรรมและเสริม มาตรฐานเครื่องมือแพทย์ที่ขาดแคลนให้เป็นสากล
– โครงการ ยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยด้วยนวัตกรรม
– โครงการการพัฒนาแนวทาง วิธีการ และกระบวนการติดตามประเมินผล การกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากโครงการภาคป่าไม้ที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการรับรองเป็นคาร์บอนเครดิต ภายใต้โครงการ ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศ
– โครงการการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน
– โครงการยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการท้องถิ่น เพื่อการท่องเที่ยวหลังโควิด
– โครงการสร้างความรับรู้และมีส่วนร่วม ในเรื่อง BCG
– โครงการจัดการขยะพลาสติกครบวงจร แยก รวบรวม จัดเก็บ หมุนเวียนใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้มีการนำมาใช้ซ้ำ
– โครงการบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลการลดการสูญเสีย อาหารและขยะอาหารระดับชาติ
4.ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแส การเปลี่ยนแปลงของโลก ) กรอบวงเงิน 3,213.5 ล้านบาท สำหรับ มีตัวชี้วัด อาทิ
4.1 จำนวนผู้ที่ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะที่สูงขึ้นไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน
4.2 จำนวนวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการมุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG 1,000 ราย โดยมีตัวอย่างโครงการที่สำคัญ เช่น
– โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (Youth Startup Fund)
– โครงการ พลิกโฉมการเรียนรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรมและศาสตร์เชิงบูรณาการ
รัฐบาลมุ่งเน้นการดำเนินงานภายใต้ แผนปฏิบัติการฯ BCG พ.ศ. 2564- 2570 เพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เชิงรุก ซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) กำกับดูแลขับเคลื่อนบูรณาการการทำงานสู่การปฏิบัติ โมเดลเศรษฐกิจ BCG อีกทั้งจะมีการติดตามและการประเมินผลเพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด