นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการเตรียมยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากบริการยูเซ็ป หรือ การให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) โดยระบุว่า ขณะนี้ สธ.โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เตรียมที่จะเปลี่ยนแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ให้ออกจากยูเซ็ป และให้ใช้แนวทางรักษาแบบตามสิทธิของประชาชน เช่น
1.สิทธิบัตรทอง
2.สิทธิประกันสังคม
3.ประกันสุขภาพต่าง ๆ
สำหรับแนวทางการปรับการเบิกจ่าย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีการปรับค่าใช้จ่ายในการตรวจ RT-PCR ตามวิธีการตรวจ คือ
1.ตรวจ 2 ยีน จะจ่าย 900 บาท และ 3 ยีน จ่าย 1,100 บาท
2.ปรับอัตราตรวจ (Swap) ส่วนการตรวจด้วย ATK จะจ่าย 350 บาท และ 250 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทที่ใช้ตรวจ แต่จะต้องเป็น ATK แบบที่บุคลากรแพทย์ใช้ (professional use)
3.ปรับค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้ารับการดูแลในฮอสพิเทล (Hospitel) เป็น 1,000 บาทต่อวัน เท่ากับการรักษาที่บ้าน (HI)
ทั้งนี้ ย้ำว่า แม้จะออกจากยูเซ็ปแล้ว แต่ไม่กระทบต่อการรักษาของประชาชนที่ยังมีสิทธิรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าจะลงนามได้เร็ว ๆ นี้ เพื่อให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นไป โดยการปรับจากระบบฉุกเฉินมาเป็นระบบปกตินั้น ยืนยันว่าไม่เกิดผลกระทบกับประชาชน รัฐยังให้การดูแลตามสิทธิ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นี้ รัฐเป็นผู้จ่ายให้ ยกเว้นว่าประชาชนต้องการรับบริการที่นอกเหนือจากนี้ เช่น จะเข้าโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน ก็จะต้องจ่ายเอง