หลังจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 18 ก.พ.65 ปรับรักษาโควิดตามสิทธิฟรี หากติดเชื้อไม่ฉุกเฉิน เข้า HI/CI โคม่าเข้าฉุกเฉินได้ทุกที่ด้วย UCEP Plus เริ่มวันที่ 1 มี.ค. 65 อ่านเพิ่มเติม >> https://mekhanews.com/2022/02/21/ministry-of-public-health-confirms-march-1-65-adjust-the-treatment-of-covids-according-to-the-rights-for-free-non-emergency-infection/
กระทั่งวันที่ 22 ก.พ. 65 คณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นชอบให้มีการเลื่อนประกาศใช้ดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจกับการใช้บริการด้านสุขภาพของตัวเอง และเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้น จึงขอให้ยึดหลักเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินรักษาฟรีทุกที่ หรือ ยูเซป (UCEP) เช่นเดิม
ล่าสุด นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แถลงแนวทางการรักษาและเบิกจ่ายโรคโควิด-19
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้โรคโควิด-19 ยังเป็นโรคฉุกเฉินสามารถรักษาได้ทุกที่ (UCEP COVID) ทุกสถานพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ไม่สามารถปฏิเสธการรับผู้ป่วยได้ หากไม่มีศักยภาพในการดูแล หรือ ไม่มีเตียงจะต้องส่งต่อ และไม่สามารถเรียกเก็บเงินมัดจำได้ มิเช่นนั้นจะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล
ส่วนการทบทวนจะเน้นทำความเข้าใจประชาชน ทั้งการเข้าสู่ระบบเมื่อติดเชื้อ ช่องทางติดต่อ การใช้สิทธิรักษาของแต่ละกองทุนสุขภาพ ความเข้าใจเรื่องระดับอาการที่มีการดูแลแตกต่างกัน เช่น อาการปานกลางสีเหลือง ที่เข้ารักษาได้ทุกที่มีเกณฑ์อย่างไร เป็นต้น รวมถึงระบบการส่งต่อ เพื่อให้ประชาชนเข้ารับบริการได้ถูกช่องทาง รวมถึงทำความเข้าใจกับฝั่งสถานพยาบาล
ขณะที่เรื่อง UCEP Plus สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เตรียมการรองรับและทำระบบคัดแยกไว้แล้ว จะมีการทบทวนไปพร้อมกัน ซึ่งไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการทบทวนไว้ หากเตรียมกระบวนการบริการและการสื่อสารครบถ้วนก็นำเสนอ ครม.ต่อไป
ด้าน นพ.จเด็จ ยืนยันว่า UCEP COVID ยังรักษาได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องกลับไปรักษายังหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้ ส่วนการรับบริการทั้งที่บ้าน ชุมชน โรงแรม โรงพยาบาล ระบบจะเข้าไปดูแลค่าใช้จ่าย สำหรับช่องทางลงทะเบียนผู้ติดเชื้อผ่านสายด่วน 1330 พบว่า วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวนสายติดต่อเข้ามาสูงที่สุด 49,005 สาย ในรอบ 24 ชั่วโมง จึงเพิ่มเจ้าหน้าที่รับสายอีก 150 คน อย่างไรก็ตาม ทุกวินาทีจะมีผู้รอสายประมาณ 50 สาย จึงแนะนำให้ติดต่อผ่านไลน์ สปสช. @nhso หรือเว็บไซต์ของ สปสช. จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและติดต่อกลับเช่นกัน
ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า สพฉ.พร้อมให้การสนับสนุนตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 2 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น UCEP COVID หรือ UCEP Plus สำหรับผู้ติดเชื้อให้โทรประสาน สปสช. ทางหมายเลข 1330 หรือ @nhso แต่หากระหว่างรอการประสานเพื่อรับยา หรือ รอการรักษา มีอาการแย่ลง เช่น เหนื่อย หายใจไม่สะดวก ไข้สูง หรือ มีอาการที่คิดว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิต ให้โทรสายด่วน 1669
ซึ่งใน กทม. ศูนย์เอราวัณเป็นผู้ดูแล สำหรับต่างจังหวัด หรือปริมณฑล จะเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดแต่ละแห่งดูแลโดยทางศูนย์ฯ 1669 จะพิจารณา ส่งทีมและรถไปรับผู้ป่วยไปส่งยังสถานพยาบาล ที่จะไปรับการรักษาตามคำแนะนำของ สปสช.ต้องสอดคล้องกับกองทุนที่จะไปตามจ่ายต่อไปด้วย
สพฉ. ได้มีการประสานและทำงานร่วมกับศูนย์เอราวัณมาโดยตลอด ในช่วงนี้ จำนวนเคสยังไม่มากนัก ซึ่ง กทม.ยังสามารถดูแลได้ ศูนย์เอราวัณจะเป็นผู้จัดทีมเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย แต่หากในอนาคต มีจำนวนเคสเพิ่มมากขึ้นเกินศักยภาพของ กทม. ที่จะช่วยเหลือได้ สพฉ. ก็พร้อมที่จะระดมทรัพยากรและจัดทีมเข้าไปช่วยดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
อ่านเพิ่มเติม >> เกณฑ์รักษาโควิดฟรีตามสิทธิ หลังปลดออกจากสิทธิฉุกเฉิน UCEP มีอะไรบ้าง ? https://mekhanews.com/2022/02/22/criteria-for-free-covid-treatment-according-to-rights-after-being-discharged-from-ucep-emergency-rights-what-do-you-have/