วันที่ 20 – 23 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) นางสาวจันทร์ฉาย ยศศักดิ์ศรี นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ พร้อมคณะ จากกลุ่มวิจัยและพัฒนาอาหารแปรรูป กองเทคโนโลยีชุมชน ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลปัญหาการผลิตของผู้ประกอบการ OTOP ประเภทอาหาร ในจังหวัดอุทัยธานี จำนวน 5 ราย ได้แก่ กลุ่มสตรีบ้านทรัพย์เจริญ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนขบเคี้ยวบ้านหลังเขา กลุ่มแปรรูปอาหารจรรยา กลุ่มทำขนมไทยบ้านคูเมือง กลุ่มอาหารคาว-หวานบ้านท่าโพ และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดภูฐาน
จากการลงพื้นที่พบว่าผู้ประกอบการต้องการยื่นขออนุญาตสถานที่ผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปในรูปแบบใหม่ที่มีอายุการเก็บรักษานานขึ้น วศ. จึงได้ให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการโดยใช้องค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาในระดับเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ และใช้องค์ความรู้ภูมิปัญญาของชุมชนเป็นแกนหลักในการต่อยอดการวิจัยและพัฒนา รวมถึงติดตามความคืบหน้าการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่ผู้ประกอบการได้รับการถ่ายทอดจาก วศ. เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบท้องถิ่นให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยให้สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน