นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 มีนาคม 2565 เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (ฉบับที่ 8) มีผลบังคับใช้ทันที ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อให้ค่าใช้จ่ายรักษาโรคโควิด-19 สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
เนื่องจากราคาอุปกรณ์และเวชภัณฑ์บางรายการมีราคาที่ถูกลง ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าใช้จ่ายจะไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและคุณภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทุกกลุ่มระดับอาการทั้งสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ตัวอย่างการปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมีหลายข้อ มีค่า นิวส์ สรุปได้ดังนี้
1. ปรับปรุงหลักเกณฑ์
– ให้สถานพยาบาลได้รับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ตามระดับกลุ่มอาการของผู้ป่วย นับแต่รับ หรือส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่นตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ฯ ฉบับนี้
– กำหนดให้ผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วยที่ปฏิเสธไม่ขอให้ส่งต่อ หรือกรณีผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย ประสงค์จะไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่น ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง
2. การตรวจคัดกรองด้วยวิธี Real time PCR แบ่งเป็น
2.1 กรณี 2 ยีนส์ (เหมาจ่าย) ปรับลดเหลือ 900 บาท จากเดิม 1,300 บาท
2.2 กรณี 3 ยีนส์ (เหมาจ่าย) ปรับลดเหลือ 1,100 บาท จากเดิม 1,500 บาท
3. การตรวจคัดกรองด้วย ATK แบ่งเป็น
3.1 ATK วิธี Chromatographic immunoassay จ่ายตามจริงไม่เกิน 250 บาท/ครั้ง (จากเดิม 300บาท/ครั้ง)
3.2 ATK วิธี FIA จ่ายตามจริงไม่เกิน 350 บาท/ครั้ง (จากเดิม 400บาท/ครั้ง)
4. ปรับปรุงรายการและอัตราค่าบริการเหมาจ่ายสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว
4.1 กรณี HI CI Hotel Isolation Hospitel โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ให้เบิกได้เฉพาะค่ายาพื้นฐาน ค่าบริการพยาบาลทั่วไป ค่าติดตามอาการ ค่าให้คำปรึกษาของแพทย์ ค่า PPE ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าอาหาร 3 มื้อ รวมถึงค่าที่พักเฉพาะ
4.2 กรณี HI Hospitel โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม หากรักษาตั้งแต่วันที่ 1-6 วัน เหมาจ่าย 6,000 บาท
4.3 กรณีรักษา 7 วันขึ้นไป เหมาจ่าย 12,000 บาท
5. ยา Favipiravir และ ยา Remdesivir ให้เบิกจ่ายจากกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง