จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 63 ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ กลุ่มมติครม. 20 ส.ค. 62 กลุ่มมติ 4 ส.ค. 63 กลุ่มมติ 10 พ.ย. 63 และกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสิ้นสุดลงเพราะผลของกฎหมาย สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึง 1 ส.ค. 65 โดยต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดให้แล้วเสร็จ เพื่อจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานถึง 13 ก.พ. 66 หรือ 2 ปี นับแต่วันที่การอนุญาตเดิมสิ้นสุด
ล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาย้ำเตือนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวตามมติครม.ดังกล่าวข้างต้น พาแรงงานที่ประสงค์จะทำงานต่อถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 ไปยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนใบอนุญาตทำงานสิ้นอายุ หรือภายในวันที่ 31 มี.ค. 65 หากไม่สามารถยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนดหากประสงค์จะทำงานต่อขอให้ยื่นคำขออนุญาตทำงานภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นอายุ โดยในช่วงใบอนุญาตทำงานสิ้นอายุจะไม่สามารถทำงานได้ ให้แรงงานเริ่มทำงานได้อีกครั้งต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตทำงานฉบับใหม่แล้ว
นอกจากนี้ แรงงานต่างด้าวตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 63 ที่ยังไม่ได้จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติฯ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค. 65 หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดการอนุญาตให้ทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรจะสิ้นสุด ในส่วนคนต่างด้าวตาม MoU ที่ระยะเวลาการจ้างงานครบ 4 ปี (มติครม. 10 พ.ย. 63) หากประสงค์ทำงานต่อให้ขอใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 1 ส.ค. 65 ซึ่งคนต่างด้าว จะทำงานได้เมื่อได้รับใบอนุญาตทำงานฉบับใหม่
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีแรงงานต่างด้าวที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จฯ ประมาณ 11,000 คน ซึ่งเมื่อดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว หากประสงค์ทำงานต่อไปจนถึงวันที่ 13. ก.พ. 66 ต้องดำเนินการขอหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางฉบับใหม่กรณีเอกสารเดิมหมดอายุภายใน 1 ส.ค. 65
ทั้งนี้ หากตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมาย นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน
หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี
ในส่วนคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ