นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 มีนาคม 2565 อนุมัติโครงการอาชีวะ ฝีมือชน พัฒนากำลังคนชายแดนใต้ กรอบวงเงินงบประมาณ 107.6 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณพ.ศ.2564 – 2568 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ มีวัตถุประสงค์หลายข้อ มีค่า นิวส์ สรุปได้ดังนี้
1. ช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาสและครอบครัวผู้มีรายได้น้อย
2. สร้างโอกาสให้เยาวชนในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้เรียนรู้วิชาชีพอย่างมีคุณภาพ
3. ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนได้มีโอกาสสร้างทักษะในการประกอบอาชีพที่มั่นคง โดยดำเนินการในลักษณะการจัดตั้งโรงเรียนประจำในสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย) รวม 4 แห่ง ได้แก่
3.1 วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี
3.2 วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา
3.3 วิทยาลัยการอาชีพสุไหง-โกลก
3.4 วิทยาลัยเทคนิคจะนะ
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการ จะเปิดรับนักเรียน/นักศึกษาในระดับ ปวช. จำนวน 135 คนต่อชั้นเรียน และระดับ ปวส. จำนวน 247 คนต่อชั้นเรียน ซึ่งเป็นนักเรียน/นักศึกษาที่ยากจน ถูกทอดทิ้ง ไม่มีผู้อุปการะ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีคุณสมบัติ อาทิ
1. ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี โดยใช้ข้อมูลจากผู้ที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการของรัฐ
2. เป็นนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
3. มีภูมิลำเนาในจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา ในอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย
นางสาวรัชดา ระบุอีกว่า โครงการนี้ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างโอกาสให้นักเรียนด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ศึกษาต่อด้านวิชาชีพอย่างทั่วถึงและมีทักษะประกอบอาชีพที่มั่นคง ทั้งนี้ ผลการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 – 2563 ที่ผ่านมา มีนักเรียน/นักศึกษาเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 858 คน แบ่งเป็นระดับ ปวช .จำนวน 318 คน และระดับ ปวส.จำนวน 540 คน ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น