ผู้สูงอายุหลายคนเคยเป็นกันไหมคะ ? เวลาที่นั่งรับประทานอาหารและพูดคุยกับเพื่อน หรือครอบครัว อยู่ดี ๆ ก็เกิดสำลัก ซึ่งอาการดังกล่าว หากตัวผู้สูงอายุเอง ลูกหลาน หรือผู้ดูแล ไม่ทราบวิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง ก็เสี่ยงเสียชีวิตได้เลยทีเดียวค่ะ มีค่า นิวส์ จึงสรุปมาฝากผู้สูงอายุ เพื่อจะได้เรียนรู้กันว่า อาการแบบไหนถึงเข้าข่ายเกิด “ภาวะสำลักอาหาร” ขั้นตอนการปฐมพยาบาลต้องทำอย่างไร และจะป้องกันได้ยังไงบ้างค่ะ
เกิดอะไร กับการกลืนอาหารของผู้สูงอายุ ?
1. กลืนอาหารยาก รู้สึกฝืดคอ เนื่องจากน้ำลายน้อยลง
2. กลืนอาหารหลายครั้ง เพราะลิ้นและริมฝีปากเสื่อมสภาพ
3. เคี้ยวอาหารได้ยาก ไม่ละเอียดเพราะฟันและเหงือกไม่ค่อยแข็งแรง
4. คอหอยปิดช้าลงทำให้อาหารอาจค้างอยู่ในคอหอยนานขึ้น
อาการที่พบขณะสำลักอาหาร และผู้ที่เห็นต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือ
1. ผู้สูงอายุชี้ที่คอ หรือเอามือกุมคอ
2. พูดไม่ออก
3. หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงดัง
4. ไอไม่มีเสียงและขย้อน
5. ผิวหน้าซีดเขียว
6. อาจชักหรือหมดสติถ้าขาดอากาศนาน
ขั้นตอนการปฐมพยาบาล
1. แนะนำให้ผู้สูงอายุไอก่อน เพื่อขับสิ่งของแปลกปลอมออกมา
2. แต่ถ้าไอแล้วไม่ออกนั้นให้ใช้วิธี “ดันกะบังลม” 5 ครั้ง หรือทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าสิ่งของจะหลุดออกมา แบ่งได้ 2 วิธี คือ
2.1 “ผู้สูงอายุทำด้วยตัวเอง”
– ใช้ 3 นิ้ว เช่น นิ้วโป้ง, นิ้วกลาง, นิ้วชี้ เพื่อหาตำแหน่งกะบังลม โดยวางทาบลงไปที่บริเวณลิ้นปี่ หรือเหนือสะดือต่ำกว่าอก
– ให้กำมืออีกข้างแล้ววางลงไปยังตำแหน่งของนิ้วชี้ (นิ้วที่อยู่ตรงกลาง)
– ใช้มือข้างที่กางนิ้วทั้ง 3 สลับมากุมยังมืออีกข้าง
– กางแขนออกพร้อมกับก้มหน้าลงในท่ากำมือ จากนั้นให้ดันกำปั้นเข้าหาตัว และกระแทกขึ้นบนที่กะบังลมต่อเนื่องกัน 5 ครั้ง หากสิ่งของยังไม่ออกให้ทำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา
2.2 “ลูกหลานคอยช่วยเหลือ”
– ให้ยืนด้านหลังผู้สูงอายุ และสอดขาข้างใดข้างหนึ่งของผู้ช่วยเหลือเข้าไปอยู่ตรงกลางของผู้สูงอายุ
– จากนั้นกางนิ้วทั้ง 3 เพื่อหาตำแหน่งกะบังลม และกำมือของผู้ช่วยเหลือ เหมือนท่าดันกะบังลมด้วยตัวเอง
– จากนั้นให้ผู้สูงอายุก้มหน้าลง โดยที่คนช่วยเหลือดันกำมือเข้าหาตัวผู้สูงอายุ พร้อมกับกระแทกมือขึ้นด้านบนกะบังลม เพื่อกระตุ้นให้สิ่งของหลุดออกมา
ผู้สูงอายุปรับ 7 พฤติกรรมการกินอาหารของตัวเอง เพื่อป้องกันการสำลัก
1. นั่งตัวตรงขณะกินอาหาร ช่วยให้กลืนง่าย ไหลลงกระเพาะได้เร็ว
2. ไม่ควรนอนทันทีหลังกินอาหาร เพราะอาหารที่ค้างอยู่ในคอหอย จะทำให้ผู้สูงอายุสำลักและเป็นกรดไหลย้อน
3. กินอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียดที่สุด
4. ไม่กินตอนเหนื่อย นั่งพักก่อนกินอาหาร 30 นาที ป้องกันการสำลักอาหาร
5. กินขนาดพอดีคำ ตักทีละอย่าง กินทีละคำ
6. กินอาหารนุ่ม เคี้ยวง่าย เลี่ยงรสจัด
7. ไม่ดูทีวี ฟังวิทยุ หรือพูดคุยกัน ขณะกินอาหาร
สำหรับวิธีประเมินความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุอาจจะลองทำดู เพื่อประเมินตัวเองว่ามีความเสี่ยงเกิด “ภาวะสำลักอาหาร” หรือไม่ ? “แนะนำให้ลองกลืนน้ำเปล่า 1 ช้อนชา ถ้าไม่สำลักให้เพิ่มปริมาณเป็น 1 ซ้อนโต๊ะ ถ้าเริ่มสำลักตั้งแต่ดื่มน้ำปริมาณน้อย ๆ แสดงถึงปัญหาภาวะการกลืนลำบาก ควรปรึกษาแพทย์”
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) https://www.thaihealth.or.th/Content/38647-ป้องกันผู้สูงอายุเกิด%20“ภาวะสำลักอาหาร”.html