จากสถานการณ์ ภาวะหัวใจล้มเหลว ในประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี และได้คร่ากว่าหลายล้านชีวิตทั่วโลก สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข Service Plan สาขาโรคหัวใจ และ แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ผนึกกำลัง เปิดตัว “โครงการความร่วมมือในการยกระดับมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวแบบครบวงจร (Collaborative Excellence in Heart Failure Management)” มุ่งจัดตั้งดัชนีชี้วัดการบริการและรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวอย่างเป็นระบบ พร้อมยกระดับมาตรฐานการรักษา และพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากร พร้อมเดินหน้าสร้างเครือข่ายการดูแลสุขภาพที่แข็งแกร่งทั่วประเทศ เพื่อลดอัตราการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพยากร ตลอดจนผลักดันระบบสาธารณสุขไทยให้มั่นคงและยั่งยืน
ภายในงานมีการจัดเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ พูดคุยถึงทิศทางการดูแลคนไข้ ภาวะหัวใจล้มเหลว ภายใต้หัวข้อ “Act on Heart Failure: Moving Forward with Holistic Heart Failure Management in Thailand, เรื่องหัวใจล้มเหลวดูแลได้ หากเข้าใจ ร่วมพัฒนาระบบสุขภาพไทยเพื่อผู้ป่วย” โดยเล่าถึงอาการที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ความกังวลต่ออาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้และลุกลามจนก่อให้เกิดอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน รวมถึงกลุ่มเสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลว แนวทางการป้องกันโรคที่เริ่มต้นได้จากที่บ้าน
ภาวะหัวใจล้มเหลว คืออะไร
ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ อาจมาจากความผิดปกติทางโครงสร้าง หรือการทำหน้าที่ของหัวใจผิดปกติไปโดยมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
ปัจจัยเสี่ยง ภาวะหัวใจล้มเหลว
1.โรคเบาหวาน
2.การรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม
3.โรคความดันโลหิตสูง
4.การสูบบุหรี่เป็นประจำ
5.โรคอ้วน
5.ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียดสะสม

ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นสาเหตุของการนอนโรงพยาบาลอันดับหนึ่งในผู้สูงอายุ หากไม่รักษาอาจจะทำให้เกิดอาการกำเริบเป็นพัก ๆ ได้ เสี่ยงต่อการเข้ามารักษาในโรงพยาบาล และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
สัญญาณเตือน หรืออาการที่บ่งบอกถึงภาวะหัวใจล้มเหลว
1.เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเวลาออกแรงทำกิจกรรมเดิมไม่ได้ หรือทำได้ลดลง
2.อ่อนเพลีย
3.บวม โดยเฉพาะที่ขา หรือหน้าแข้ง เมื่อกดแล้วบุ๋ม
4.เหนื่อย หรือหายใจไม่ออกขณะนอนราบ

ภาวะหัวใจล้มเหลว รักษาหายไหม ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่หากรักษาอย่างถูกต้อง รับประทานยาสม่ำเสมอ และควบคุมพฤติกรรม หรือปัจจัยเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม จะสามารถช่วยให้ดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
การรักษา ภาวะหัวใจล้มเหลว
1.รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ หากเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว จำเป็นต้องหาสาเหตุและรักษาโรคดังกล่าว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
2.รักษาด้วยการใช้ยา ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่มีข้อมูลแสดงถึงประโยชน์ในการลดอัตรา การนอนโรงพยาบาล หรือลดอัตราการเสียชีวิตได้ในกลุ่มผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ ยากลุ่มรักษาภาวะความดันโลหิตสูง ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคเบาหวานบางกลุ่ม
3.การใส่อุปกรณ์ช่วยการทำงานของหัวใจ เช่น ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ เครื่องกระตุกหัวใจ เครื่องพยุงหัวใจ ซึ่งพิจารณาตามอาการ และความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
4.การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ

สำหรับ โครงการความร่วมมือในการยกระดับมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวแบบครบวงจร (Collaborative Excellence in Heart Failure Management) จะนำร่องโดยการจัดการอบรมใน 4 เขตสุขภาพทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตสุขภาพ 1, 6, 7, และ 11 ภายในปลายปี 2568 มีแผนที่จะนำมาโครงการมาใช้ทั่วประเทศหลังจากนี้