นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 เมษายน 2565 อนุมัติหลักการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษแก่ผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิสวัสดิการเบี้ยยังชีพ ในปีงบประมาณ 2565 เฉลี่ยรายละ 100-200 บาท ตามช่วงอายุ จำนวน 10,896,444 ล้านคน วงเงินรวม 8,348.16 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน–กันยายน 2565 ตามกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ
ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากผู้สูงอายุได้รับผลกระทบทางรายได้ คิดเป็นร้อยละ 50.7 ของผู้สูงอายุทั้งหมด และรายได้ของผู้สูงอายุที่มาจากการทำงาน มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 40 เหลือเพียงร้อยละ 22 (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ)
การจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษแก่ผู้สูงอายุครั้งนี้ จะจ่ายเพิ่มจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายเดือนตามช่วงอายุ เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน–กันยายน 2565 ดังนี้
- อายุ 60-69 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บ./เดือน รับเพิ่ม 100 บ./เดือน รวมเป็น 700 บ./เดือน
- อายุ 70-79 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 700 บ./เดือน รับเพิ่ม 150 บ./เดือน รวมเป็น 850 บ./เดือน
- อายุ 80-89 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 800 บ./เดือน รับเพิ่ม 200 บ./เดือน รวมเป็น 1,000 บ./เดือน
- อายุ 90 ปีขึ้นไป รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000บ./เดือน รับเพิ่ม 250 บาท/เดือน รวมเป็น 1,250 บ./เดือน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมอบหมายกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษผู้สูงอายุต่อไป
ส่วนกรณีผู้สูงอายุที่ถูกระงับสิทธิ เนื่องจากได้รับสวัสดิการอื่นซ้ำซ้อนจากรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้รับสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ปรับเพิ่มด้วย โดยจะได้รับ เมื่อมีการออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)